เกาะติด รายงานสภาพอากาศ พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า
พยากรณ์อากาศวันพรุ่งนี้ บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนล่าง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำหรับทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ออกประกาศ 02 ตุลาคม 2566
อัพเดทสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกเช้าวันนี้ (2/10/66)
พายุโซนร้อน "โคอินุ (KOINU)" (ความหมาย "ลูกสุนัข" ตั้งชื่อโดยประเทศญี่ปุ่น) จะทวีกำลังแรงขึ้นอีกเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือมุ่งไปทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน (5/10/66) และเคลื่อนตัวตามแนวขอบชายฝั่งทางด้านตะวันออกของประเทศจีนไปทางเกาะฮ่องกงและเกาะไหลหลำ
คาดว่าจะอ่อนกำลังก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย จะไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากมีมวลกาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ทำให้พายุอ่อนกำลังลงในช่วงดังกล่าว ส่วนฝนที่จะเกิดขึ้นมาจากร่องมรสุม หย่อมความกดอากาศต่ำ และลมพัดเข้าสู่พายุ ยังต้องติดตามเป็นระยะ แต่ไม่น่ากังวล (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)
อีกความเคลื่อนไหวจากโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า (1 – 7 ต.ค. 2566) ทุกภาคของประเทศไทย ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง พร้อมแนะข้อควรระวังในช่วงวันที่ 3 – 6 ต.ค. 2566 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ดังนี้ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม จึงขอให้ประชาชนติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดด้วย
“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฯ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยซึ่งยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ ได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีลงพื้นที่ ซึ่งขณะนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี กำลังอยู่ในพื้นที่อุทกภัย เร่งติดตาม กำกับการช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ นายกฯ ย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่ กำชับเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงให้แจ้งเตือนประชาชนทุกระยะ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะผ่านพ้น และภายหลังน้ำลด ให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนรีบช่วยเหลือประชาชน ฟื้นฟูบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ให้กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้พี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ผ่านพ้นสถานการณ์ไปด้วยกัน” นายชัย กล่าว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยใน 10 จังหวัดของไทย ประชาชนได้รับผลกระทบ 20,590 ครัวเรือน ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ เร่งให้ความช่วยเหลือ
2 ตุลาคม 2566 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระหว่างวันที่ 26 ก.ย. – 2 ต.ค. 66 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด รวม 95 อำเภอ 322 ตำบล 1,365 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,423 ครัวเรือน
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 10 จังหวัด 58 อำเภอ 232 ตำบล 1,037 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 20,590 ครัวเรือน ได้แก่
1.ลำพูน
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านโฮ่ง และอ.ลี้ รวม 6 ตำบล 36 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 300 ครัวเรือน
2.เชียงใหม่
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.อมก๋อย อ.ฮอด อ.แม่ออน อ.จอมทอง อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่แจ่ม อ.แม่ริม อ.สันป่าตอง และอ.เชียงดาว รวม 14 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 100 ครัวเรือน
3.ลำปาง
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เถิน อ.เกาะคา อ.สบปราบ อ.เสริมงาม และอ.แม่พริก รวม 21 ตำบล 97 หมู่บ้าน
4.แพร่
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอได้แก่ อ.ลอง อ.วังชิ้น อ.เด่นชัย อ.เมืองแพร่ และอ.สูงเม่น รวม 40 ตำบล 198 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 837 ครัวเรือน
5.ตาก
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองตาก อ.สามเงา อ.พบพระ อ.แม่สอด และอ.บ้านตาก รวม 16 ตำบล 81 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,654 ครัวเรือน
6.สุโขทัย
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.กงไกรลาศ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.ศรีนคร อ.คีรีมาศ อ.บ้านด่านลานหอย และอ.เมืองสุโขทัย รวม 38 ตำบล 138 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 1,258 ครัวเรือน
7.กาฬสินธุ์
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ร่องคำ อ.ฆ้องชัย อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.สามชัย อ.ท่าคันโท อ.หนองกุงศรี และอ.สหัสขันธ์ รวม 34 ตำบล 149 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,573 ครัวเรือน
8.ยโสธร
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อ.ป่าติ้ว อ.เมืองยโสธร และอ.ค้อวัง รวม 3 ตำบล 7 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 40 ครัวเรือน
9.อุบลราชธานี
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ อ.ม่วงสามสิบ อ.เดชอุดม อ.ตระการพืชผล อ.เขื่องใน อ.เหล่าเสือโก้ก อ.ตาลสุม และอ.ดอนมดแดง รวม 57 ตำบล 298 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,733 ครัวเรือน
10.ปราจีนบุรี
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอได้แก่ อ.ประจันตคาม และอ.กบินทร์บุรี รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 95 ครัวเรือน
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีที่จ.กาฬสินธุ์และจ.อุบลราชธานี ที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปภ. โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย
18:00 น. วันนี้ ถึง 18:00 น. วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และตาก
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 5-15 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดมุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์
ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา
นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร
กรุงเทพฯและปริมณฑล
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. :(นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง ุ2 - 11 ต.ค.66 อัพเดท 2023100112 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) :
ช่วง 2- 5 ต.ค. 2566 ร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณจีนใต้ (ใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม) ฝนยังเกิดขึ้นได้ตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมมีกำลังปานกลาง ฝนที่เกิดขึ้นเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลางและมีตกหนักบางแห่ง ใกล้แนวร่องมรสุม และใกล้หย่อมความกดอากาศต่ำ ยังต้องระวังฝนตกสะสม โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล พื้นที่เปราะบาง อาจเจอฝนตกหนักได้ในช่วง 1-3 วันนี้ คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลางโดยเฉพาะทะเลอันดามัน คลื่นสูง 1-2 ม.
ในส่วน 6 -11 ต.ค. 2566 ร่องมรสุมจะสวิงขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นบ้าง ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดูกาล อากาศมีความแปรปรวนสูง ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่ซึมลงมาปกคลุม
สำหรับสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุโซนร้อน "โคอินุ (KOINU)" (ความหมาย "ลูกสุนัข" ตั้งชื่อโดยประเทศญี่ปุ่น ) ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว (ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กม/ชม.ขึ้นไป) มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือไปทางเกาะไต้หวัน หลังจากนั้นเคลื่อนตัวตามแนวขอบชายฝั่งของประเทศจีนมาทางเกาะฮ่องกง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ คาดว่าพายุนี้จะไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่ฝนที่เกิดขึ้นมาจากร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้
(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมชลประทาน ประกาศเรื่อง “เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง” รับมือฝนตกหนักอีกระลอกในช่วงวันที่ 3 - 7 ตุลาคม 2566
2 ตุลาคม 2566 กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ตามประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เรื่อง “เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง” ในช่วงวันที่ 3 - 7 ตุลาคม 2566
สืบเนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมบริเวณภาคเหนือและทำให้มีน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้นและมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 3 - 6 ตุลาคม 66 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
สทนช. ได้วิเคราะห์คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นส่งผลให้ น้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำโดยมีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง
แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,200 - 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีโดยจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 - 1.5 เมตร
กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประทาน เพื่อเป็นการหน่วงน้ำ ที่ไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสายหลักให้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการจัดจราจรทางน้ำเพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากลงมายังแม่น้ำยม แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำชี-มูล
พร้อมทั้งได้สั่งการให้โครงการชลประทาน และสำนักเครื่องจักรกล ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลาก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง
สรุปปริมาณฝนสะสมรายวันที่ผ่านมา (29 กันยายน – 1 ตุลาคม 2566)
วันที่ 29 กันยายน 2566
ปริมาณฝนสูงสุด(ฝนหนักมาก) วัดได้ 119.8 มม. ที่ จ.แพร่
วันที่ 30 กันยายน 2566 ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น
ปริมาณฝนสูงสุด(ฝนหนัก) วัดได้ 40.0 มม. ที่ จ.กรุงเทพมหานคร
วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น
ปริมาณฝนสูงสุด(ฝนหนัก) วัดได้ 71.2 มม. ที่ จ.บึงกาฬ
ออกประกาศ 02 ตุลาคม 2566