svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อินเดียถวายตำแหน่ง "ตรีปิฎกอาจารย์" แด่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตโต

มหามงคล! สถาบันนวนาลันทาอินเดีย ถวายตำแหน่ง "ตรีปิฎกอาจารย์" ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฏก แด่ "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตโต" นับเป็นรูปที่สองของโลก ต่อจาก "พระถังซัมจั๋ง" หรือภิกษุเสวียนจั้งของจีน

21 มิถุนายน 2566 ถือเป็นเรื่องมงคลสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย เมื่อมีรายงานข่าวว่า "สถาบันนวนาลันทา ประเทศอินเดีย" ซึ่งเป็นสถานบันอุดมศึกษา ที่มีชื่อเสียงในด้านการสอนภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาอังกฤษ และพระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์ และชาวพุทธจากทั่วโลก ได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียน

ได้มีการถวายตำแหน่ง "ตรีปิฎกอาจารย์" หมายถึง ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฎก แด่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต  ป.ธ.9 วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม นับเป็นพระสงฆ์รูปที่ 2 ของโลก ที่ได้รับตำแหน่งนี้ ต่อจาก พระถังซัมจั๋ง หรือ พระภิกษุ เสวียนจั้ง (ประเทศจีน)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต  ป.ธ.9 วัดญาณเวศกวัน
 

เรื่องราวนี้ ได้รับการเปิดเผยจาก พระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) วัดห้วยปลากั้ง จังหวัดเชียงราย ที่ได้มีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก พระไพศาลประชาทร วิ. ระบุว่า

"ข่าวมงคลของพระสงฆ์ไทย : สถาบันนวนาลันทา ประเทศอินเดีย มีมติถวายตำแหน่ง ตรีปิฏกอาจารย์ (ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฏก) แด่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต นับเป็นพระสงฆ์รูปที่สองของโลก รูปแรกคือ พระถังซัมจั๋ง ของจีนหรือ ภิกษุเสวียนจั้ง"


 

สำหรับ "พระถังซัมจั๋ง" หรือ พระภิกษุ "เสวียนจั้ง" เป็นพระเถระคนสำคัญในประวัติศาสตร์จีน มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 1143 - 1207 ปลายราชวงศ์สุยถึงต้นราชวงศ์ถัง อันเป็นยุคทองของจีน ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน "สามนักแปลคัมภีร์พุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของจีน" ซึ่งได้แก่ พระกุมารชีพ (พ.ศ. 887-956) พระปรมรรถ (พ.ศ. 1042-1112) และพระถังซัมจั๋ง (พ.ศ. 1143-1207)

ท่านเป็นชาวเมืองลั่วหยาง มีนามฆาราวาสว่า เฉินฮุย เสียงแต้จิ๋วว่า ตั้งฮุย (หรือ ฮุย แซ่ตั้ง) สนใจพุทธศาสนามาแต่เด็ก ผนวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปี ได้รับสมณฉายาว่า "เสวียนจั้ง" ออกเสียงง่าย ๆ อย่างลิ้นคนไทยว่า สวนจั้ง หรือ เสียนจั้ง ก็ได้ เสียงแต้จิ๋วว่า "เหี้ยนจัง" หมายถึง "รุ่งเรืองด้วยความลึกซึ้ง" ตรงกับภาษาบาลีว่า "คัมภีร์วิโรจน์"
"พระถังซัมจั๋ง" หรือ พระภิกษุ เสวียนจั้ง  

เรื่องราวของ พระถังซัมจั๋ง นั้น ต่อมาได้เป็นแรงบันดาลใจ ในการแต่งนิยายสุดคลาสสิกของจีน เรื่อง "ไซอิ๋ว" เป็นเรื่องของการเดินทางไปยังชมพูทวีป (อินเดีย) เพื่ออัญเชิญคัมภีร์พระพุทธศาสนา ของหลวงจีนชื่อ พระถังซำจั๋ง (อ้างอิงจากผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ มีนามว่าพระเสวียนจั้ง)

โดยมีสัตว์ 3 ตัวเป็นเพื่อนร่วมทาง คือ เห้งเจีย (ปีศาจลิง) ตือโป๊ยก่าย (ปีศาจหมู) และซัวเจ๋ง (ปีศาจปลา) ซึ่งระหว่างการเดินทาง ต้องพบกับการขัดขวางของเหล่าปิศาจมากมาย ด้วยเนื้อหาที่เป็นการผจญภัย และมีสัตว์เป็นตัวเอก ทำให้ "ไซอิ๋ว" ได้รับความนิยมจากหมู่เยาวชนมากที่สุด ในวรรณกรรมเอกทั้ง 4 เรื่อง เป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับ สามก๊ก , ความฝันในหอแดง , ซ้องกั๋ง 
อินเดียถวายตำแหน่ง \"ตรีปิฎกอาจารย์\" แด่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตโต  

ขอบคุณข้อมูล : พระไพศาลประชาทร วิ.  (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) วัดห้วยปลากั้ง จังหวัดเชียงราย / วัดญาณเวศกวัน  / ข่าวกรมประชาสัมพันธ์ /วิกิพีเดีย