30 พฤษภาคม 2566 เมื่อเวลา 17.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 11 เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และ คลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน มีผลกระทบถึงวันที่ 30 พ.ค.66 โดยมรสมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเมียนมา และอ่าวมะตะบัน
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ด้านตะวันตกของภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และ ภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และกำแพงเพชร
ภาคกลาง : จังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาครและนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2566
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ไต้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้ายของเหตุการณ์นี้
อัปเดตสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น "มาวาร์ (MAWAR)" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (30/5/66) : พายุนี้มีศูนย์กลาง ในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจาก เกาะลูซอล ประเทศฟิลิปินส์ ประมาณ 390 กม. หรือห่างจากเกาะไต้หวัน ราว 450 กม.ยังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ และคาดว่ามีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวโค้งกลับไปในมหาสมุทรแปซิฟิก ก่อนจะอ่อนกำลังลงและสลายตัวไป ไม่เคลื่อนเข้าสูประเทศไทย
ปิดท้ายรายงานสภาพอากาศ
มาดูกันต่อที่ พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 30 พ.ค.-8 มิ.ย.2566 อัปเดต 2023052912 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF)
💦 วันนี้ (30 พ.ค.66) มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยมีเมฆมาก มีฝน/ฝนฟ้าคะนองตกต่อเนื่อง และตกหนักบางแห่ง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณด้านตะวันตกของภาคกลาง ต้องระวัง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า ส่วนการกระจายและปริมาณของฝนอาจจะยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ปริมาณฝนส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อย ถึงปานกลาง
💦ส่วน ช่วง 31 พ.ค.-5 มิ.ย.66 ยังมีฝนต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านรับมรสุม เกิดขึ้นได้ช่วงบ่าย-ค่ำ บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ฝนลดลงบ้าง ช่วงแรก และจะกลับมาเพิ่มขึ้นปลายช่วง (6- 8 มิ.ย.66) คาดว่าจะมีร่องมรสุมพาดผ่าน สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านรับมรสุม มีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมมีกำลังปานกลาง ห่างฝั่งคลื่นสูง ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวัง
🎯สำหรับพายุไต้ฝุ่น "มาวาร์ (MAWAR)" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก ค่อนไปทางเหนือ (ไปทางเกาะไต้หวัน) พายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย เพียงแต่จะดึงดูดให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น
(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)
ย้อนอ่านประกาศที่ฉบับที่ 10