svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ "วันลอยกระทง"

เปิดประวัติ ตำนานและความเชื่อ ‘วันลอยกระทง’ หนึ่งในประเพณีไทยที่ควรค่าในการอนุรักษ์ตราบนาน ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที ปีนี้ตรงกับวันที่ 8 พ.ย. 2565  

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"

เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับวันลอยกระทง 2565 นี้ ตรงกับวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565  


ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 หรือวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปีจะตรงกับ วันลอยกระทง เป็นประเพณีที่คนไทยถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน แต่อย่างไรก็ดี ประเพณีลอยกระทง ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป” และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน


ชวนอ่าน (ทบทวน) ประวัติวันลอยกระทง
ในครั้งอดีต เชื่อกันว่า ประเพณีลอยกระทง เริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่า พิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"

เปิดตำนานวันลอยกระทง

วันลอยกระทง ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป” และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน

 

ในสมัยก่อน พิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

 

ก่อนที่ นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วง จะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศที่ว่า

 

“ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกสรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย…”

 

เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน” พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"

ประเพณีลอยกระทง ได้กระทำสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า “เรือลอยประทีป” ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง จนมาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย


ประเพณีลอยกระทง (Loy Krathong Festival) มิได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่า ก็มีการลอยกระทงคล้ายๆ กับบ้านเรา จะต่างกันบ้าง ก็คงเป็นเรื่องรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ในบ้านเราเอง การลอยกระทง ก็มาจากความเชื่อที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้รวบรวมมาบอกเล่าให้ทราบกันดังต่อไปนี้

ทำไมถึง "ลอยกระทง"

การลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร เพียงแต่ท้องถิ่นแต่ละแห่ง ก็จะมีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์, เป็นบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย หรือต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดา

วัตถุประสงค์ของวันลอยกระทง (Loy Krathong Festival) 

นอกจากนี้ ลอยกระทง ก็ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึก หรือ สะดือทะเล บางแห่งก็ลอยกระทง เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน บางแห่งก็เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำ ให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ และส่วนใหญ่ก็จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"

พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า

ต้นเหตุแห่งการลอยกระทง อาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหล เพื่อขอบคุณแม่คงคา หรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก และเมื่อเสร็จแล้ว จึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำว่า ได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว

ท่านว่า การที่ชาวบ้านบอกว่า การลอยกระทงเป็นการขอขมาลาโทษ และขอบคุณต่อแม่คงคา ก็คงมีเค้าในทำนองเดียวกับการที่ชาติต่างๆ แต่ดึกดำบรรพ์ได้แสดงความยินดี ที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ จึงได้นำผลผลิตแรกที่ได้ ไปบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ เพื่อขอบคุณที่บันดาลให้การเพาะปลูกของตนได้ผลดี รวมทั้งเลี้ยงดูผีที่อดอยาก และการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เสร็จแล้วก็มีการสมโภชเลี้ยงดูกันเอง

ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อน เรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการบวงสรวง ตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ที่สุด ก็คงเหลือแต่การเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การลอยกระทงจึงมีอยู่ในชาติต่างๆทั่วไป และการที่ไปลอยน้ำ ก็คงเป็นความรู้สึกทางจิตวิทยา ที่มนุษย์โดยธรรมดา มักจะเอาอะไรทิ้งไปในน้ำให้มันลอยไป

ทำไมกระทงส่วนใหญ่เป็นรูปดอกบัว

ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ ตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอก ของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่า เป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำ ตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลาย ตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียน นำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศพระสนมเอก ก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษ ที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็น ก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"

ตำนานและความเชื่อวันลอยกระทง (Loy Krathong Festival) 

จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า การลอยกระทง ในแต่ละท้องที่ก็มาจากความเชื่อ ความศรัทธาที่แตกต่างกัน บางแห่งก็มีตำนานเล่าขานกันต่อๆมา ซึ่งจะยกตัวอย่างบางเรื่องมาให้ทราบ ดังนี้

เรื่องแรก ว่ากันว่าการลอยกระทง มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธนั่นเอง

กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวนหุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐาน และบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล

พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาค ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอม และดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำ เพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆ มาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทง ตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้ บางแห่งก็ว่า พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐาน ประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลาย จึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้ จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมา โดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไป ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา 3 เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัท พากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์ และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทง เพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"

สำหรับคติที่ว่า

การลอยกระทงตามประทีป เพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี บนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาด ลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรา มักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย

เรื่องที่สอง ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า

พิธีลอยประทีป หรือ ตามประทีป นี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ทีปาวลี” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่า เมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท และการรับเสด็จพระพุทธเจ้า ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน 12 หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน)

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของพม่า

มีการเล่าขานกันว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางเสมอ พระองค์จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือ พระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปาก และปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราช จึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทง เพื่อบูชาคุณพระยานาค เรื่องนี้ บางแห่งก็ว่า พระยานาค ก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้ เป็นที่นับถือของชาวพม่า และชาวพายัพของไทยมาก

เรื่องที่สี่ เกิดจากความเชื่อแต่ครั้งโบราณในล้านนาว่า

เกิดอหิวาต์ระบาด ที่อาณาจักรหริภุญชัย ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่ไม่ตายจึงอพยพไปอยู่เมืองสะเทิม และหงสาวดีเป็นเวลา 6 ปี บางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ครั้นเมื่ออหิวาต์ได้สงบลงแล้ว บางส่วนจึงอพยพกลับ และเมื่อถึงวันครบรอบที่ได้อพยพไป ก็ได้จัดธูปเทียนสักการะ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าวใส่ สะเพา ( อ่านว่า “ สะ - เปา หมายถึง สำเภาหรือกระทง ) ล่องตามลำน้ำ เพื่อระลึกถึงญาติที่มีอยู่ในเมืองหงสาวดี ซึ่งการลอยกระทงดังกล่าว จะทำในวันยี่เพง คือ เพ็ญเดือนสิบสอง เรียกกันว่า การลอยโขมด แต่มิได้ทำทั่วไปในล้านนา

ส่วนใหญ่ เทศกาลยี่เพง นี้ ชาวล้านนาจะมีพิธีตั้งธัมม์หลวง หรือ การเทศน์คัมภีร์ขนาดยาวอย่างเทศน์มหาชาติ และมีการจุดประทีปโคมไฟอย่างกว้างขวางมากกว่า (การลอยกระทง ที่ทางโบราณล้านนาเรียกว่า ลอยโขมดนี้ คำว่า “ โขมด อ่านว่า ขะ-โหมด เป็นชื่อผีป่า ชอบออกหากินกลางคืน และมีไฟพะเหนียงเห็นเป็นระยะๆ คล้ายผีกระสือ ดังนั้น จึงเรียกเอาตามลักษณะกระทง ที่จุดเทียนลอยในน้ำ เห็นเงาสะท้อนวับๆ แวมๆ คล้ายผีโขมดว่า ลอยโขมด ดังกล่าว)

เรื่องที่ห้า กล่าวกันว่าในประเทศจีนสมัยก่อน

ทางตอนเหนือ เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมจนชาวบ้านตายนับเป็นแสนๆ และหาศพไม่ได้ก็มี ราษฎรจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นงานประจำปี ส่วนที่ลอยในตอนกลางคืน ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะต้องการความขรึม และขมุกขมัวให้เห็นขลัง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีๆสางๆ และผีก็ไม่ชอบปรากฏตัวในตอนกลางวัน การจุดเทียนก็เพราะหนทางไปเมืองผีมันมืด จึงต้องจุดให้แสงสว่าง เพื่อให้ผีกลับไปสะดวก ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงว่า ปล่อยโคมน้ำ (ปั่งจุ๊ยเต็ง) ซึ่งตรงกับของไทยว่า ลอยโคม จากเรื่องข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การลอยกระทง ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้า เทพเจ้า พระแม่คงคา และบรรพชน เป็นต้น และแสดงความกตเวที (ตอบแทนคุณ) ด้วยการเคารพบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ โดยเฉพาะการบูชาพระพุทธเจ้า หรือรอยพระพุทธบาท ถือได้ว่าเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกเป็นนัยให้พุทธศาสนิกชน ได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเอง


เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง

สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลายๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่

1. เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด

2. เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา

3. เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

4. เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้

5. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

6. เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน

7. เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้อีกด้วย


กิจกรรมวันลอยกระทง

ในปัจจุบันมีการจัดงานลอยกระทงทุก ๆ จังหวัด ซึ่งจะมีกิจกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ แต่กิจกรรมที่มีเหมือน ๆ กันก็คือ การประดิษฐ์กระทง โดยนำวัสดุต่าง ๆ ทั้งหยวกกล้วย ใบตอง หรือจะเป็นกาบพลับพลึง เปลือกมะพร้าว ฯลฯ มาประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการบูชา ให้เป็นกระทงที่สวยงาม ภายหลังมีการใช้วัสดุโฟมที่สามารถประดิษฐ์กระทงได้ง่าย แต่จะทำให้เกิดขยะที่ย่อยสลายยากขึ้น จึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้กระทงโฟมเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อนจะมีการดัดแปลงวัสดุทำกระทงให้หลากหลายขึ้น เช่น กระทงขนมปัง กระทงกระดาษ กระทงพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อให้ย่อยสลายง่ายและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อไปถึงสถานที่ลอยกระทง ก่อนทำการลอยก็จะอธิษฐานในสิ่งที่ปรารถนาขอให้ประสบความสำเร็จ หรือเสี่ยงทายในสิ่งต่าง ๆ จากนั้นจึงปล่อยกระทงให้ลอยไปตามสายน้ำ และในกระทงมักนิยมใส่เงินลงไปด้วย เพราะเชื่อกันว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคา

นอกจากการลอยกระทงแล้ว มักมีกิจกรรมประกวดนางนพมาศอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเพณีลอยกระทง และตามสถานที่จัดงานจะมีการประกวดกระทง ขบวนแห่ มหรสพสมโภชต่าง ๆ บางแห่งอาจมีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองด้วย

รำลึกบทเพลงดัง "เพลงรำวงวันลอยกระทง"

เมื่อเราได้ยินเพลง “รำวงลอยกระทง” ที่ขึ้นต้นว่า “วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง…” นั่นเป็นสัญญาณว่าใกล้จะถึงวันลอยกระทงแล้ว ซึ่งเพลงนี้เป็นที่คุ้นหูของทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เพราะในต่างประเทศมักเปิดเพลงนี้ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อแสดงถึงความเป็นประเทศไทย

เพลงรำวงวันลอยกระทง ประพันธ์โดย "ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" ผู้ให้ทำนองคือ "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" แห่งสุนทราภรณ์ ซึ่งครูเอื้อได้แต่งเพลงนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 ขณะที่ได้ไปบรรเลงเพลงที่บริเวณคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผู้ขอเพลงจากครูเอื้อ ครูเอื้อจึงนั่งแต่งเพลงนี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงจึงเกิดเป็น เพลงรำวงลอยกระทง ที่ติดหูกันมาทุกวันนี้ มีเนื้อร้องที่เสนาะหู ว่า

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิง
สนุกกันจริง วันลอยกระทง
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว
ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง
รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"

ทำความรู้จักประวัตินางนพมาศ

นางนพมาศ เกิดในรัชกาลพญาเลอไท กษัตริย์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย บิดาเป็นพราหมณ์ชื่อ โชติรัตน์ มีราชทินนามว่า พระศรีมโหสถ รับราชการในตำแหน่งปุโรหิต มารดาชื่อ เรวดี ภายหลังนางนพมาศได้ถวายตัวเข้าทำราชการในราชสำนักสมเด็จพระร่วงเจ้า สันนิษฐานว่ารับราชการในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท)หรือพระร่วงเจ้าสุโขทัย จนกระทั่งได้รับตำแหน่ง “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” พระสนมเอก

 

ปรากฏในพงศาวดารว่า นางนพมาศได้ทำคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วงในกาลต่อมา ที่สำคัญๆ มีอยู่ 3 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 เข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ห้าวัน ก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป นางได้คิดประดิษฐ์โคมเป็นรูปบัวกมุทบาน มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน นำไปถวายพระร่วงเจ้า เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงเจ้ามาก

ครั้งที่ 2 ในเดือนห้ามีพิธีคเชนทร์ศวสนาน เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง มีเจ้าประเทศราชขึ้นเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น ซี่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน

ครั้งที่ 3 นางได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ ถวายพระร่วงเจ้าเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น ตรัสว่า แต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้

นางนพมาศ ถือว่าเป็นบุคคลที่ได้สมญาว่า “กวีหญิงคนแรกของไทย” ดังที่เขียนไว้ว่า “ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฏชื่อแสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน”

สำหรับความเชื่อในวันลอยกระทง มีอยู่ด้วยกัน 3 สิ่ง ดังนี้
1.การใส่เงินในกระทง
ในสมัยอยุธยา เชื่อว่าการใส่เศษสตางค์ลงในกระทงเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ แต่ปัจจุบันเชื่อกันว่าจะทำให้ร่ำรวย มีเงินทองไหลมาเทมาตลอดปี

2.การใส่เส้นผมและเล็บในกระทง
เชื่อว่าเป็นการทำให้เคราะห์ร้ายหรือสิ่งไม่ดีลอยออกไปจากตัวเรา จะมีสิ่งดีๆ เข้ามาแทนที่

3.การใส่อาหารลงในกระทง
ชาวจีน เชื่อว่าเป็นการเซ่นไหว้ภูตผีที่อยู่ในแม่น้ำ เนื่องจากจะมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ

 

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"
เปิดความรู้อีกมุมอง ที่มาของตำนานลอยกระทง เรียบเรียงโดย เฉลิมพล ตั้งศิริสกุล ที่เขียนเรื่องนี้ไว้ใน website GQ 

ชื่อ ‘ลอยกระทง’ ไม่ได้มีตั้งแต่สมัยสุโขทัย และ 'นางนพมาศ' อาจไม่มีตัวตนอยู่จริง

“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง”

ท่วงทำนองเพลงที่คุ้นหูในช่วงปลายปี ที่เป็นหนึ่งในสัญญาณของการเริ่มเทศกาลขอขมา (หรือทำร้าย?) พระแม่คงคากันแบบไทยๆ ใครหลายๆ คน รวมถึงตัวผมเองในอดีตก็เคยเข้าใจว่าเทศกาลลอยกระทงนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และนางนพมาศที่เป็นเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลก็เป็นบุคคลที่เราเชื่อว่ามีตัวตนอยู่จริง แต่ในความจริงแล้วได้มีข้อสันนิษฐานหลายข้อที่โต้แย้งและลบล้างความเชื่อข้างต้นได้ อะไรคือข้อสันนิษฐานเหล่านั้น เราจะพาคุณไปหาคำตอบ 

ความเข้าใจว่าประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีตั้งแค่ครั้นกรุงสุโขทัยนั้น มาจากหนังสือ ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ที่เล่าถึงประวัติของนางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการฝ่ายใน ในสมัยสุโขทัย พร้อมเล่าถึงประเพณีในสมัยนั้นตลอด 9 เดือน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการกล่าวถึงประเพณีจองเปรียงลอยพระประทีป หรือประเพณีลอยกระทง

โดยถ้าจะเริ่มกล่าวถึงการมีอยู่ของตัวตนนางนพมาศ ในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ช่วงกรุงสุโขทัยตามตำรับฯ ข้างต้นนั้น ข้อความดังกล่าวได้มีช่องโหว่อยู่มาก เพราะจากหลักฐานในศิลาจารึกหลักต่างๆ ที่อยู่ในยุคสุโขทัย ไม่เคยปรากฎชื่อของตำแหน่ง “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หากแต่กลับเริ่มปรากฎในกฎหมายตราสามดวงซึ่งถูกตราขึ้นในยุคของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงตำแหน่งของสนมเอกสี่ทิศ คือ อินทรสุเรนทร, ศรีสุดาจันทร์, อินทรเทวี และศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งใช้สืบต่อมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นการกล่าวว่า นางนพมาศในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นอยู่ในช่วงสุโขทัยจึงอาจเป็นอันต้องตกไป

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"

ในส่วนของ ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยทรงให้ความเห็นว่างานชิ้นนี้อาจเป็นงานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 เพราะมีหลักฐานว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ส่งจาก Cinnamon Hall เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์ขณะลี้ภัยการเมือง ถึงพระยาอนุมานราชธน มีใจความว่า “หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์”

ประกอบกับหลักฐานในประวัติศาสตร์ช่วงยุคสุโขทัยอย่างศิลาจารึกหลักต่างๆ ไม่ได้มีการกล่าวถึงคำว่า “ลอยกระทง” มีเพียงแต่ปรากฎใช้คำว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” แทน และหลักฐานจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ ในช่วงกรุงศรีอยุธยามีการใช้คำว่า “ประทีปโคมไฟ” ซึ่งหาได้ใช้คำว่า “ลอยกระทง”

ดังนั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และจากข้อสันนิษฐานของนักวิชาการหลากหลายท่าน คำว่า “ลอยกระทง” จึงเป็นคำที่ถูกใช้เรียกประเพณีนี้ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์และยาวมาจนถึงปัจจุบัน และนางนพมาศอาจไม่มีตัวตนอยู่จริง เป็นเพียงแค่ตัวละครในวรรณกรรม


สำหรับคอข่าวที่ยังไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวที่ไหน ก็อย่าลืมชวนครอบครัว หรือเพื่อนสนิท มาร่วมใจสืบสานประเพณีที่ดีงามนี้ไว้นานๆ นะคะ ที่สำคัญอย่าลืมใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติด้วยล่ะ เพราะนอกจากจะไปลอยกระทงเพื่ออนุรักษ์ประเพณีแล้ว ยังจะเป็นการช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติไว้อีกต่อหนึ่งด้วยค่ะ

เปิดประวัติ ย้อนตำนาน ความเชื่อ ที่มาของ \"วันลอยกระทง\"

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : อมรรัตน์ เทพกำปนาท สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

ขอขอบคุณที่มา GQ

ขอขอบคุณที่มา : wealthi