svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

แฉ "ส่วยดอกไม้ไฟ" จาก "มูโนะ" ถึง "ขาใหญ่โยงการเมือง" ต้นเหตุโศกนาฏกรรม

ล้วงลึก! แฉ “ส่วยดอกไม้ไฟ” จากเหตุ "โกดังพลุมูโนะ" ระเบิด ถึง "ขาใหญ่โยงการเมือง" งาบส่วยส่งสิ่งของผิดกฎหมายข้ามแดน ต้นเหตุโศกนาฏกรรม

2 สิงหาคม 2566 เหตุโศกนาฏกรรม "โกดังพลุระเบิด" พื้นที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จนมีผู้เสียชีวิตถึง 12 ราย บาดเจ็บ บาดเจ็บ 121 ราย บ้านเรือนประชาชน เสียหาย 292 หลังคาเรือน ขณะที่ ตำรวจยังคงเร่งติดตามตัว 2 ผัวเมีย เจ้าของโกดังเก็บพลุดังกล่าว ที่หลบหนีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน มาดำเนินคดี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

หากไม่นับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ประเด็นเรื่องของ พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่ถูกซุกซ่อนอยู่กลางชุมชน ทั้งที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจนนั้น

ทันทีที่เกิดเหตุขึ้น ได้มีเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ผู้ตกเป็นเหยื่อ ที่เปิดเผยทั้งน้ำตาว่า "รู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้"

เนื่องจากเจ้าของ "เส้นใหญ่" ถึงขนาดทำให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีอาการไม่รู้ไม่เห็นได้ จนกลายเป็นคำถามที่หลายคนคาใจว่า "มีการจ่ายส่วยหรือไม่อย่างไร
แฉ \"ส่วยดอกไม้ไฟ\" จาก \"มูโนะ\" ถึง \"ขาใหญ่โยงการเมือง\" ต้นเหตุโศกนาฏกรรม

 

โดยจากข้อมูล ภาพถ่าย และการตรวจสอบสถานที่จริง ของโกดังและร้านค้าที่พบพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ในชุมชนมูโนะ ทั้งที่เกิดระเบิดไปแล้ว และยังไม่ระเบิด สามารถสรุปได้ง่าย ๆ อย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่มีอะไรถูกกฎหมายทั้งสิ้น โรงเรือนที่ใช้เก็บสินค้า 

อีกทั้ง “ของกลางทางคดี” ล้วนไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ผิดกฎหมายทุกฉบับ ทั้งที่เกี่ยวกับสารอันตราย วัตถุอันตราย และกฎหมายความมั่นคง 

เมื่อทุกอย่างผิดกฎหมาย แต่กลับดำรงอยู่ได้แบบสบาย ๆ แถมป่านนี้เจ้าของโกดัง ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็น “เจ้าของวัตถุไวไฟ” ต้นเหตุโศกนาฏกรรมทั้งหมดด้วย กลับยังไม่ปรากฏตัวตามหมายเรียกของตำรวจ ยิ่งทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่ชัดเจนขึ้นว่า งานนี้กำลังมี “อภิสิทธิ์ชน” หรือมีผลประโยชน์นอกระบบ ที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่กฎหมายห้ามหรือไม่?
ภาพที่ตั้งโกดังเก็บพลุมุมสูง จากเพจเสียงจากแผ่นดินแม่
 

ประเด็นนี้เหล่า เพจเฟซบุ๊ก golokspotlight (โก-ลก สปอตไลต์) และ เพจเฟซบุ๊ก เสียงจากแผ่นดินแม่ ออกมาเปิดข้อมูล จนมีการนำไปอ้างอิงกันทั่วว่า 

-เจ้าของโกดังเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ดบังหน้า แต่มีธุรกิจขายประทัดและพลุ ส่งออกมาเลเซีย เป็นรายใหญ่ของ อ.สุไหงโก-ลก 

-เจ้าของเคยถูกจับกุมเมื่อปี 59 แต่หลุดคดีมาได้ 

-มีข้อกล่าวหาเรื่องการจ่ายผลประโยชน์รายเดือน ให้กับเจ้าหน้าที่สีกากี มีหน้าเสื่อยศจ่า ชื่อย่อ “ฟ.” เป็นผู้ติดต่อประสานงาน เดือนละ 3 - 5 หมื่นบาท

นี่คือข้อมูลที่แม้แต่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.ก้าวไกล ก็นำมาอ้างถึง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแต่อย่างใด 
ภาพใบหน้าเจ้าของโกดังพลุ จากเพจเสียงจากแผ่นดินแม่

ทีมข่าว “เนชั่นทีวี” ได้ส่งทีมตรวจสอบเรื่องนี้ และพบข้อมูลบางส่วนตรงกับที่เพจ golokspotlight ออกมาแฉ แต่บางส่วนก็ไม่ตรง และมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น 

1.การจ่ายส่วยเพื่อขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย รวมถึงพลุ ดอกไม้ไฟ และประทัด มีอยู่จริงในพื้นที่ชายแดนใต้ แยกเป็น

ส่วยพื้นฐาน - อยู่ที่อัตรา 30,000-50,000 บาทต่อเดือน - ถ้าจ่ายในอัตรานี้ จะขนส่งได้แบบจำกัดจำนวนเที่ยว และต้องมีสินค้าอื่นแซมหรือปะปนมาในรถที่ใช้ขนด้วย เพื่อไม่ให้มีพิรุธมาก เช่น ถ้าจะขนพลุ ดอกไม้ไฟ ก็อาจจะต้องมีลังผลไม้แซมมาด้วย 

ส่วยแอดวานซ์ - อัตรา 100,000 บาทต่อเดือน - ถ้าจ่ายอัตรานี้ จะขนส่งได้แบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ขนกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนรถบรรทุกจ่ายส่วยสติ๊กเกอร์ ไม่ต้องติดเวลา และการขน ไม่ต้องมีสินค้าอื่นแซมเลย เรียกว่าขนได้เต็มที่ ขนได้เต็ม ๆ คันรถ ไม่ต้องมีกล่องสินค้าอื่นแซมให้เปลืองที่ แถมส่งสินค้าอะไรก็ได้ ไม่จำกัดประเภท จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ส่วยบุฟเฟต์” เป็นที่ชื่นชอบถูกใจสำหรับคนในแวดวงธุรกิจสีเทาอย่างมาก 
แฉ \"ส่วยดอกไม้ไฟ\" จาก \"มูโนะ\" ถึง \"ขาใหญ่โยงการเมือง\" ต้นเหตุโศกนาฏกรรม

แต่มีข้อสังเกตว่า ราคานี้เป็นราคาสำหรับ “ขาใหญ่” เท่านั้น เป็นการคิดรวมทั้งค่าขนส่ง และเก็บรักษาในโกดังเพื่อรอส่งต่อ มีการอำนวยความสะดวก จ่ายจุดเดียวจบ ไม่ต้องจ่ายเบี้ยใบ้รายทาง หรือโดนรีบไถบ่อยๆ จากหน่วยนั้นหน่วยนี้ให้รำคาญใจ   

แต่ถ้าเป็น “ผู้ค้ารายเล็ก” อาจจะจ่ายต่อครั้งน้อยกว่านี้ แต่ต้องจ่ายหลายหน่วย จ่ายยิบย่อย โดนเรียกเก็บจุกจิกไม่จบ เรียกว่ากวนใจ กวนธุรกิจ แต่ราคาถูกกว่า 

ตำรวจในพื้นที่นายหนึ่ง เผยกับ “เนชั่นทีวี” ว่า ถ้าจ่ายหนักก็จะขนได้หนักหน่อย แสน-สองแสนต่อเดือน ก็สามารถขนได้แบบบุฟเฟต์เลย ยาบ้ายังขนได้ อย่างอื่นก็ขนสบาย ช่องทางสะดวก ขนสบายตลอดทาง ทั้งทางบกทางน้ำ ขอแค่จ่ายถึงๆ ก็พอ   

2.การจ่ายส่วยเพื่อขนสินค้าข้ามแดน  

อาจจะมีคำถามว่า ทำไมขนสินค้าข้ามแดนต้องจ่ายส่วยด้วย คำตอบก็คือ การส่งสินค้าข้ามแดน หากเป็นสินค้าผิดกฎหมาย หรือสินค้าต้องห้าม สินค้าที่ต้องขออนุญาต แล้วไม่ได้ขอ ย่อมไม่สามารถส่งผ่านด่านศุลกากรได้ จึงต้องส่งผ่าน “ช่องทางพิเศษ” ไม่ต้องเสียภาษี และไม่ต้องถูกตรวจสอบ หากเป็นพื้นที่ชายแดนด้านที่มีแม่น้ำกั้น จะส่งทางเรือ ทางท่าข้ามธรรมชาติ หรือท่าข้ามเอกชน เช่น ท่าข้ามตลอดแนวแม่น้ำสุไหงโก-ลก 

กรณีขนพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในพื้นที่มูโนะ เพื่อส่งข้ามแดน จะใช้วิธีส่งข้ามแม่น้ำโก-ลก โดยท่าข้ามอยู่ไม่ไกลจากโกดังที่เกิดระเบิด และโกดังที่พบดอกไม้ไฟเพิ่ม ซึ่งไม่เกิดระเบิด โดยโกดังที่ไม่ระเบิดนี้ เป็นอาคารพาณิชย์ พบพลุ ดอกไม้ไฟอีก 1.9 ตัน อยู่ห่างจากท่าข้ามแม่น้ำโก-ลก เดินไม่ถึง 5 นาที 

อัตราค่าขนส่ง รายกล่อง อยู่ที่กล่องละ 5 บาทถึง 10 บาท แล้วแต่ขนาดของกล่อง โดยคนที่เลือกจ่ายรูปแบบนี้ เป็นกลุ่มที่ขนสินค้าน้อยชิ้น แต่หากต้องการขนสินค้าจำนวนมาก จะเลือกแบบจ่ายเหมา วันละ 1,000 บาท ส่งกี่กล่องก็ได้ แถมส่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือ ท่าข้ามริมชายแดนไทย - มาเลเซียส่วนใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ “สีเขียว” คุมอยู่ และมีเวลาปิด - เปิดท่าอย่างชัดเจน

แต่ที่มูโนะ เป็นพื้นที่ของ “ขาใหญ่ฝ่ายการเมือง” จึงไม่มี “สีเขียว” เกี่ยวข้องหรือคอยคุม ทำให้ขนกันอย่างเสรี จ่ายจุดเดียวจบที่ “สีกากี” 

“เนชั่นทีวี” ได้พูดคุยกับชายฉกรรจ์ ที่มีอาชีพขนสินค้าหนีภาษี ข้ามฝั่งไทย-มาเลย์ ได้ข้อมูลยืนยันว่า การขนพลุ ดอกไม้ไฟ ถ้าเป็นที่มูโนะ หรือ สุไหงโก-ลก จะส่งที่ท่าเรือ ท่าข้ามมูโนะกันเลย เพราะท่านี้ขนได้ 24 ชั่วโมง ไม่มีทหารคุม คนขนก็เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ที่รับจ้างเพราะต้องการเงิน 
แฉ \"ส่วยดอกไม้ไฟ\" จาก \"มูโนะ\" ถึง \"ขาใหญ่โยงการเมือง\" ต้นเหตุโศกนาฏกรรม

3.โกดังเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไม่ได้มีแค่ที่มูโนะเท่านั้น แต่ในตัวอำเภอสุไหงโก-ลก ก็มี และการจับกุมเมื่อปี 59 โดยชุดปฏิบัติการของ กอ.รมน. ก็มีการจับกุมได้ถึง 60 ตัน มีทั้งโกดังในตัวอำเภอสุไหงโก-ลก และที่มูโนะ ซึ่งอยู่ในเขตสุไหงโก-ลก เช่นกัน 

การเปิดโกดังเก็บสินค้าอันตราย สารอันตราย หรือวัตถุไวไฟกลางชุมชน สามารถทำได้หรือไม่ หากไม่จ่ายผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ เป็นประเด็นที่ใคร ๆ ก็ทราบกันดี 

จากการตรวจสอบของ “เนชั่นทีวี” พบว่า ยังมีโกดังเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ อีกอย่างน้อย 6 แห่งใน 3 อำเภอริมชายแดนไทย-มาเลย์ เฉพาะริมแม่น้ำโก-ลก ได้แก่ 

- โกดังบูเก๊ะตา ในตำบลบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส 1 แห่ง 
-โกดังใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อย่างน้อย 4 แห่ง (ไม่รวมที่ ต.มูโนะ) 
- โกดังใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 1 แห่ง 


โดยทั้ง 3 อำเภอนี้เป็นเขตติดต่อกัน อยู่ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย ริมแม่น้ำโก-ลก ทั้ง 3 อำเภอ 
แฉ \"ส่วยดอกไม้ไฟ\" จาก \"มูโนะ\" ถึง \"ขาใหญ่โยงการเมือง\" ต้นเหตุโศกนาฏกรรม

4.เจ้าของโกดัง เป็นเจ้าของสินค้าด้วยหรือไม่  

“เนชั่นทีวี”
ได้ข้อมูลจากคนในพื้นที่ และนักธุรกิจชายแดนใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าของโกดังอาจเป็นเพียง “ตัวเปิด” ของธุรกิจขนสินค้าประเภทพลุ ดอกไม้ไฟ ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย ต้องห้ามเคลื่อนย้ายและครอบครอง แต่เจ้าของตัวจริง คือ “ขาใหญ่” ในพื้นที่ โดยสาเหตุที่ต้องใช้ “นอมินี” ก็เพราะ

- ขาใหญ่เปิดตัวไม่ได้ เนื่องจากมีตำแหน่งทางการเมือง (จากการตรวจสอบ ไม่ใช่ตำแหน่งเล็ก ๆ และไม่ใช่การเมืองท้องถิ่น) 
- ใช้พ่อค้าหรือนักธุรกิจในพื้นที่ออกหน้าแทน 
- เลือกใช้พ่อค้าหรือนักธุรกิจ ที่มีรถขนส่ง มีโกดังเก็บสินค้า 
- “ขาใหญ่” รับหน้าที่ดูแลช่องทางจ่ายส่วยรายเดือน เป็นแบบจ่ายน้อย กำไรงาม ส่วนแบ่งสูง 

ข้อมูลจากนักธุรกิจในพื้นที่ระบุว่า การขนส่งสินค้าอันตราย จำพวกวัตถุไวไฟข้ามแดน ถือว่า “ไม่ธรรมดา” พ่อค้าธรรมดาทำไม่ได้ และต้องจ่ายเงินดูแลเจ้าหน้าที่ในอัตราสูง ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่า เจ้าของตัวจริงเป็น “ขาใหญ่” ที่โยงใยฝ่ายการเมือง และผู้มีอำนาจมากกว่า 
แฉ \"ส่วยดอกไม้ไฟ\" จาก \"มูโนะ\" ถึง \"ขาใหญ่โยงการเมือง\" ต้นเหตุโศกนาฏกรรม

สำหรับสาเหตุที่ฝั่งมาเลเซีย ต้องสั่งสินค้าเหล่านี้จากไทย โดยเฉพาะในช่วงงานเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น วันชาติ (31 สิงหาคม) นั้น ก็เพราะว่า กฎหมายมาเลเซียห้ามครอบครอง จำหน่าย สินค้าจำพวกพลุ ประทัด และดอกไม้เพลิง โดยกฎหมายมีความเข้มงวด อัตราโทษสูง 

ทำให้สินค้าถูกส่งจากฝั่งไทยไปเท่านั้น และต้องนำสินค้ามาพักรอ ที่โกดังริมชายแดนล่วงหน้า เนื่องจากทางฝั่งมาเลเซีย จะเปิดอนุโลมให้จำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟได้ ในช่วงเทศกาล หรือโอกาสเฉลิมฉลองสำคัญ ๆ ส่วนห้วงเวลาอื่น ห้ามเด็ดขาด 

เหตุนี้จึงต้องสั่งสินค้าจากไทย และพ่อค้าฝั่งไทยนิยมส่งไปขาย เนื่องจากได้ราคาแพง เพราะหายาก อัพราคาได้มาก เมื่อกำไรงาม ส่วยจึงบานตามไปด้วย

ขอบคุณภาพและข้อมูล : เฟซบุ๊ก golokspotlight (โก-ลก สปอตไลต์) / เสียงจากแผ่นดินแม่