ก่อนเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อเลือก"นายกรัฐมนตรี" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม ผู้เขียนมีเรื่องเล่าในช่วงการปิดเทอมรัฐสภาที่ผ่านมา ช่วงนั้น คณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการแก้ปัญหาความยากจนฯ ทำการค้นหาเพื่อเลือกพื้นที่ลงศึกษาจากสถานการณ์จริง มีโอกาสรับฟังข้อมูลการทำงานจากทีมรองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรในการประชุมออนไลน์
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานะการพัฒนาจังหวัดยโสธรด้วยความเห็นอกเห็นใจ ระคนความห่วงใย ด้วยที่เป็นจังหวัดขนาดเล็กและอยู่ในกลุ่มพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศและภาคอีสาน โชคดีที่ยังมีฐานทุนทางประวัติศาสตร์และสังคม-วัฒนธรรม อันเป็นพลังอำนาจแบบอ่อน(soft power)สะสมอยู่พอตัว
"ยโสธร"เป็นจังหวัดขนาดเล็ก พื้นที่ 4,161 ตร.กม. ประชากร 5.3 แสนคน แบ่งเขตการปกครองเป็น 9 อำเภอ79 ตำบล 835 หมู่บ้าน ประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 91,657 คน มีกลุ่มยากจนที่เป็นเป้าหมายช่วยเหลือเร่งด่วน 700 ครัวเรือน 2,334 คน
ปี 2563 มีรายได้/หัวประชากร 65,254 บาท/ปี มี GPP 19 สาขา รวม 29,709 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 16 ของภาคอีสาน โครงสร้างเป็นภาคการเกษตร ร้อยละ 25.6 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 11.5 และภาคบริการร้อยละ 62.8 นับเป็นจังหวัดยากจนอันดับที่ 72 ของประเทศ
ทุนทางเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์
ปี 2565 "ยโสธร"มีโรงงานได้รับอนุญาต 219 แห่ง เงินลงทุน 5,400 ล้านบาท คนงาน 4,100 คน มีทั้งโรงงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เช่น ยางพารา ข้าวหอมมะลิ ชุดชั้นในสตรี
ในด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ปี 2565 มีสถานศึกษารวม 704 แห่ง ในภาพรวมเด็กยโสธรมีพัฒนาการที่สมวัยร้อยละ 95.5, IQ 91.9, EQ 67.6 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศทั้งสิ้น
ในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ก็ล้วนอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่มาก กล่าวคือ ปี 2563 คะแนน O-NET ระดับ ป.6 มีค่าเฉลี่ย 32.2 ระดับอาชีวศึกษา V-NET ปวช. เฉลี่ย 41.8 และการศึกษานอกระบบ N-NET เฉลี่ย 49.9 (จากคะแนนเต็ม 100)
ตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจังหวัด ในภาพรวมดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) ต่ำกว่าค่ากลางของประเทศ เช่นเดียวกับดัชนีความก้าวหน้าการพัฒนาคน(Human Achievement Index – HAI)
เกษตรอินทรีย์และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ประชากรส่วนใหญ่ของยโสธรเป็นเกษตรกร ทำนา ปลูกพืชและเลี้ยงปศุสัตว์ พื้นที่ทางการเกษตร 2.6 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจสำคัญได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน แตงโม ถั่วลิสง ข้าวโพด หอมแดง ส่วนปศุสัตว์หลัก คือโคเนื้อ กระบือ สุกร ไก่ เป็ด แพะ
ยโสธรเป็นพื้นที่ต้นแบบเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยแห่งหนึ่งของประเทศ มีทั้งข้าวอินทรีย์ ประมงอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ และการปลูกพืชผสมผสาน ปี 2564 รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ 4.3 แสนไร่ เกษตรกร 5.5 หมื่นราย ตั้งเป้าหมายปี 2570 จะเพิ่มขึ้นให้ได้อีก 4.2 แสนไร่
"ยโสธร"กำหนดให้การท่องเที่ยวเป็นยุทธศาสตร์จังหวัด ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี ควบคู่ไปกับการเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์
เอกลักษณ์ที่มีแห่งเดียวในโลก
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เสาหลักเมือง 3 หลัก
พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก อาคารรูปทรงคางคกที่ใหญที่สุดในประเทศไทย ตัวอาคารถูกออกแบบให้เป็นรูปคางคกขนาดยักษ์ โดยมีนิทรรศการภายในบอกเรื่องเกี่ยวกับที่มาของบั้งไฟ และนิทรรศการแสดงคางคกที่พบได้ในเมืองไทยกว่า 20 ชนิด
วัดมหาธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองยโสธรมาตั้งแต่แรกสร้างเมือง
พระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง พระพุทธรูปประจำเมืองที่มีขนาดเล็กที่สุด
พระอัฐธาตุพระอานนท์ หนึ่งเดียวในประเทศไทย คู่กับประเทศอินเดีย
พระพุทธรูปหยกขาว ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วัดพระพุทธบาท
โบสถ์คริสบ้านซ่งแย้ โบสถ์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุถึง 100 ปี มีชื่อเต็มว่า “วัดอัครเทวดามีคาแอล”
ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ของชาวอำเภอมหาชนะชัย เป็นประเพณีที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันมาฆะบุชาทุก
ย่านเก่าบ้านสิงห์ท่า เป็นย่านการค้าตั้งแต่สมัยโบราณและได้เจริญขึ้นเมื่อสมัยฝรั่งเศสเข้ามามี อิทธิพลมากในภูมิภาคนี้ ในช่วงนั้นเองผู้ที่มีฐานะดี มีการนำเข้าช่างฝีมือจากเวียดนามจำนวนมากเข้ามาสร้างบ้านเรือน ทำให้บ้านเรือนมีรูปแบบศิลปกรรมแบบจีนผสมยุโรปที่งดงาม
"พระธาตุก่องข้าวน้อย" เป็นเจดีย์เก่าแก่ศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่วัดทุ่งสะเดาบ้านสะเดา ตำบลตาดทองอำเภอเมืองจังหวัดยโสธร เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป
ประวัติของการสร้างธาตุแห่งนี้เกี่ยวข้องกับนิทานพื้นบ้านโบราณ เรื่องชายคนหนึ่งที่หิวอาหารจนหน้ามืดทำร้ายมารดาจนเสียชีวิต สุดท้ายสำนึกผิดขอบวชและสร้างองค์ธาตุเพื่อไถ่บาป เป็นที่มาของคำว่า "กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่"