svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

สัมผัส "มุกดาหาร" จังหวะก้าวสู่"เขตเศรษฐกิจพิเศษ"ชายแดนภาคอีสานแห่งใหม่

เดินทางสู่อีสานไปปักหมุด "มุกดาหาร" สำรวจพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ติดตามได้ที่เจาะประเด็น โดย "พลเดช ปิ่นประทีป"

"มุกดาหาร" เป็นจังหวัดขนาดเล็ก พื้นที่ 4,339 ตร.กม. ประชากร 350,000 คน แบ่งการปกครองเป็น 7 อำเภอ 53 ตำบล 526 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ติดชายแดนประเทศ สปป.ลาว ปลายสุดทางตะวันออกของเส้นทาง East-West Economic Corridor ผ่านสะหวันนะเขต สู่ประเทศเวียดนามตอนกลางและลงสู่ทะเลจีนที่ท่าเรือดานัง 

คณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดฯยุทธศาสตร์ชาติด้านการแข่งขันของวุฒิสภา ได้ไปตรวจเยี่ยมจังหวัดมุกดาหาร ในสถานะที่เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทางด้านภาคอีสาน เพื่อรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวมภายหลังโควิด และความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแห่งใหม่ มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ บรรยายสรุปและนำชมสถานที่จริงเศรษฐกิจมุกดาหาร

หอแก้วมุกดาหาร  ขอบคุณภาพจากเว็ปไซต์ "องค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร"

ก่อนโควิด ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดมุกดาหาร(GPP) เพิ่มจาก 5,856 ล้านบาทในปี 2538  เป็น 25,799 ล้านบาทในปี 2560  ในสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด เศรษฐกิจมีการชะลอตัวมาโดยตลอด เป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมหดตัว ภาคบริการขยายตัว การใช้จ่ายหดตัวจากการบริโภคภาคเอกชนและการค้าชายแดน การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว การจ้างงานหดตัว 

ด้านการลงทุนอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 135 โรงงาน เงินลงทุนรวม 15,827 ล้านบาท จำนวนคนงาน 4,835 คน กำลังเครื่องจักร 439,060 แรงม้า ประเภทอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรกของจังหวัด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร  ผลิตภัณฑ์จากพืช  ยางและผลิตภัณฑ์ยาง  ส่วนราชการของจังหวัดมุกดาหารพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกิจกรรมโครงการรูปธรรมมากมายในรอบปีที่ผ่านมา 

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ด่านศุลกากรจังหวัดมุกดาหาร

ด่านศุลกากรจังหวัดมุกดาหาร ตั้งอยู่ที่สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2  บุคคลและยานพาหนะที่ออกจากประเทศส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทยที่มีจุดประสงค์เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวใน สปป.ลาว และเวียดนาม รวมทั้งไปคาสิโนในสะหวันนะเขต และชาว สปป.ลาว ที่เดินทางกลับประเทศเป็นปกติ การลักลอบเข้าประเทศมีน้อย

สินค้าที่นำเข้า ส่วนใหญ่คือมันสำปะหลัง มันเส้น และไม้แปรรูป สินค้าส่งออก ส่วนใหญ่เป็นไม้ยูคา ข้าวสาร และต้นปาล์มขนาดใหญ่ ส่วนการส่งออกทุเรียนผ่านด่านศุลกากรจังหวัดมุกดาหารไปยังประเทศจีนมีสัดส่วนประมาณ 60% ซึ่งคาดว่าในฤดูกาลที่จะมาถึงน่าจะกลับสู่สภาพเดิม  

 เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร 

กรมธนารักษ์ได้จัดเตรียมที่ดินสำหรับรองรับการก่อสร้างเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดน 2 แปลง เนื้อที่ 1,081 ไร่ ในท้องที่ตำบลคำอาฮวน อำเภอเมืองมุกดาหาร ดำเนินการประมูลสรรหาผู้ลงทุนมาแล้ว 4 ครั้งในห้วงเวลา 6 ปี ยังไม่ประสบความสำเร็จ กำลังจะเปิดประมูลครั้งใหม่ 

สัมผัส \"มุกดาหาร\" จังหวะก้าวสู่\"เขตเศรษฐกิจพิเศษ\"ชายแดนภาคอีสานแห่งใหม่

ส่วนทางด้านระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับ สามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องตามแผนงาน อาทิ โครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร สายบ้านบางทรายใหญ่ผ่านที่ราชพัสดุ  ถนนเชื่อมไปสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ถนนเชื่อมไปสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม  โครงการก่อสร้างสนามบินจังหวัดมุกดาหารอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น  โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม” อยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2569  โครงการก่อสร้างระบบประปาขนาด 300 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้ามุกดาหาร แห่งที่ 3 

ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ 

จังหวัดมีผลผลิตทางเกษตรจำนวนมาก อาทิ อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน จังหวัดควรให้ความสำคัญต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด พัฒนาการเกษตรสร้างมูลค่า เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ 

ด่านศุลกากรจังหวัดมุกดาหารมีรายได้จากการนำเข้าและส่งออกของสินค้าเป็นหลัก ส่วนรายได้จากการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติเพื่อการท่องเที่ยวหรือการบริการอื่น ๆ ยังมีค่อนข้างน้อย จังหวัดอาจพิจารณาโครงการ / กิจกรรมดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางมาไทยมากขึ้น 

ประเทศเพื่อนบ้านยังมีข้อจำกัดในด้านศักยภาพการตรวจสอบสินค้าที่เน่าเสียง่าย สินค้าที่เสี่ยงต่อเชื้อโรคและสินค้าที่มีสารพิษตกค้าง จังหวัดมุกดาหารควรประสานหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้มีมาตรการรองรับเพื่อป้องกันและรักษามาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าและส่งออก

สัมผัส \"มุกดาหาร\" จังหวะก้าวสู่\"เขตเศรษฐกิจพิเศษ\"ชายแดนภาคอีสานแห่งใหม่

จังหวัดมุกดาหารตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับจังหวัดโดยรอบและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากพิจารณาจากแผนงานในการก่อสร้าง จะต้องใช้ระยะเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี  รวมทั้งการพัฒนาระบบการนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้เพื่อประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม การเกษตรและภาคบริการ รวมทั้งเพิ่มแรงดึงดูดความสนใจจากผู้ลงทุนหากเปรียบเทียบกับจังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้าน