เพื่อนำไปสู่การออกแบบวางแผนในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการเอาชนะความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำแบบพุ่งเป้าสำหรับรัฐบาล พรรคการเมือง และสาธารณชนต่อไป
คณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้ประมวลประเด็นที่เป็นปัจจัยความสำเร็จในการแก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างชุมชนเข้มแข็ง
สังเคราะห์มาจากกรณีศึกษา 6 ตำบลเข้มแข็ง หายจนลดเหลื่อมล้ำ, กรณีศึกษานโยบายแก้จนแบบพุ่งเป้าของประเทศจีนและประเทศอินเดีย, กรณีศึกษา 9 โครงการการแก้ปัญหาระดับจุลภาคในประเทศไทย, กรณีศึกษารูปแบบการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองของประเทศสาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐเกาหลี, และกรณีศึกษาโครงการเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนาในประเทศไทย
พบประเด็นที่เป็นปัจจัยความสำเร็จในการเอาชนะความยากจนและสร้างชุมชนเข้มแข็ง สรุปได้อย่างน้อย 10 ปัจจัย ดังนี้
1. อาชีพเกษตรกรรม และสาธารณูปโภคพื้นฐาน
เกษตรกรรมเป็นอาชีพพื้นฐานที่มีศักยภาพสูงในการแก้ความยากจนสร้างความมั่นคงในปัจจัยสี่ และพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท ประเด็นที่ทำกิน ทรัพยากรดิน และแหล่งน้ำการเกษตร เป็นปัจจัยสำคัญต่อเกษตรกร.สาธารณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะในด้านน้ำสะอาด(ประปา)และการมีพลังงานไฟฟ้าใช้ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและมีรายได้ที่ดีขึ้น
2. การศึกษาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ
การศึกษาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนในระดับโรงเรียนอย่างทั่วถึงจึงจะเป็นหลักประกันในการนำพาครอบครัวยากจนข้ามรุ่นและครอบครัวเสี่ยงจน ให้หลุดพ้น
3. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การเข้าถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยทำให้ชุมชนมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด มุมมองและพฤติกรรมในการดำรงชีพและการทำมาหากินของตน มีแรงบันดาลใจ ความหวัง ความสุข การเปลี่ยนจากทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นการเกษตรวิถีใหม่ สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แก้ปัญหาหนี้สิน
4. แหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ
การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ ทั้งแหล่งทุนในชุมชน ท้องถิ่น หรือสถาบันการเงิน. การมีอาชีพและรายได้เสริมจากนอกไร่นา(นอกภาคการเกษตร)ช่วยให้พ้นความยากจนได้เร็วขึ้น เช่น ค้าขาย บริการ งานศิลปหัตถกรรม งานช่าง งานฝีมือ ท่องเที่ยว แปรรูป ฯลฯ
5. ตลาด เทคโนโลยี และเศรษฐกิจท้องถิ่น
การเข้าถึงตลาดและเทคโนโลยีเป็นหลักประกันในการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิต แรงงานและบริการอื่น มีโอกาสรับความรู้ ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่ออาชีพเกษตรกรและการพัฒนาคุณภาพชีวิต การมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ดีและเศรษฐกิจชุมชนที่แข็งแรง จะเอื้อต่ออาชีพ รายได้และเศรษฐกิจระดับครัวเรือน การมีนโยบายและงบประมาณการพัฒนาพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการระดับชาติ ภูมิภาคหรือท้องถิ่น ล้วนมีส่วนเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น
6. สันติสุข ความปลอดภัย และความรักสามัคคี
ความสงบ สันติสุข ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน มีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นทุกครัวเรือน ความรักสามัคคี เป็นฐานทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่มีคุณค่ายิ่งต่องานพัฒนาประชาธิปไตยชุมชนเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน บรรยากาศการแข่งขันทางการเมืองในระดับท้องถิ่น เป็นปัจจัยตัวแปรต่อความรักสามัคคีและความแตกแยกในชุมชน
7. พันธมิตรภายนอก และการบูรณาการ
การมีพันธมิตรจากภายนอกชุมชนเข้ามาหนุนเสริม หรือ เหนี่ยวนำ ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของชุมชน. การบูรณาการสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งจากหน่วยงานภายนอก มีประสิทธิภาพละเป็นไปได้มากที่สุดที่ระดับตำบล
8. นวัตกรรมการจัดการของชุมชน
ระบบสวัสดิการชุมชนเป็นกระบวนการจัดการตนเองที่พบในทุกชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และมักมีลักษณะความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายนวัตกรรมการจัดการของชุมชน เป็นต้นแบบที่รอการขยายตัว
9. ประโยชน์จากเส้นความยากจน
เส้นความยากจน (poverty line) เป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการระบุพื้นที่ยากจนหรือด้อยโอกาส เพื่อการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาการมีนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาคที่เอื้อต่อฐานราก สามารถแก้ปัญหาความยากจนในเชิงโครงสร้างของพื้นที่เป้าหมายได้ ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น
10. แก้ความยากจนแบบพุ่งเป้า
การมีนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า ช่วยเพิ่มประสิทธิ์ภาพการบรรลุเป้าหมายของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโค้งสุดท้าย. ระบบ"พี่เลี้ยงการพัฒนา" โดยกระบวนการอาศัยคนแข็งแรงจับคู่ช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า เป็นรูปแบบวิธีการพัฒนาที่แม่นยำ ตัวชี้วัดเป้าหมายที่หลากหลายมิติและเป็นรูปธรรม มีความสำคัญต่อการติดตามความก้าวหน้าและการประเมินความสำเร็จด้วยตนเอง
ข้อเสนอการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า ด้วยภูมิปัญญาไทย
เพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้กับกลุ่มประชากรในส่วนล่างสุดของสังคม ทั้งกลุ่มคนยากจนที่รอการสงเคราะห์ช่วยเหลือเฉพาะหน้า กลุ่มคนเสี่ยงจนและกลุ่มยากจนข้ามรุ่น รวมทั้งนำพาประเทศให้ก้าวพ้นสภาวะที่ติดกับดักรายได้ปานกลางมาอย่างยาวนาน ถึงเวลาที่จะบูร ณาการจุดแข็งและนำศักยภาพของสังคมไทยทุกภาคส่วนมาประกอบเครื่องกันเพื่อเอาชนะสถานการณ์ปัญหาให้ได้ภายในระยะเวลาที่ไม่นานจนเกินไป
แนวทางที่ 1 พุ่งเป้านำพาครัวเรือนยากจนและผู้ยากลำบากให้หลุดพ้น ด้วยกระบวนการจับคู่พี่เลี้ยงจิตอาสาและฐานทุนทางสังคมวัฒนธรรม
แนวทางที่ 2 พุ่งเป้าขจัดพื้นที่อำเภอยากจนและด้อยโอกาส ด้วยระบบงบประมาณแบบ Block Grant เพื่อการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน แหล่งน้ำขนาดเล็ก และสาธารณูปโภคพื้นฐาน
แนวทางที่ 3 พุ่งเป้าขยายเครือข่ายนวัตกรรมโรงเรียนร่วมพัฒนา สร้างพลเมืองรุ่นเยาว์ ตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่น
แนวทางที่ 4 พุ่งเป้าพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก ในพื้นที่เมืองรองและเมืองขนาดเล็ก