svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ทั่วไทย

ทช.ลุยเกาะล้านเปิดพื้นที่ Sea walker เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว

“ดร.ปิ่นสักก์” นำทีมลุยดำน้ำเกาะล้าน ติดตามการจัดการพื้นที่ Sea walker พร้อมเผยความสำเร็จพื้นที่ปลูกปะการัง คืนความสมบูรณ์ใต้ท้องทะเล ส่งเสริมการท่องเที่ยวใต้ท้องทะเลอีกรูปแบบหนึ่ง

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า วันนี้ ตนพร้อมด้วยทีมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดชายทะเลที่มีแหล่งทรัพยากรกรใต้ท้องทะเลอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ฝั่งทะเลอันดามัน ยกตัวอย่างเช่น “หมู่เกาะล้าน” ซึ่งเป็นแขวงหนึ่งในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ที่มีพื้นที่ขนาด 4.7 ตารางกิโลเมตร กลางอ่าวไทย มีชายหาดที่สวยงามอยู่หลายแห่ง  โดยบริเวณเกาะล้านจะมีเกาะเล็กๆ ที่อยู่รอบๆ เช่น เกาะครก และเกาะสาก อันเป็นสถานที่ดำน้ำดูปะการังทั้งแบบน้ำลึกและน้ำตื้น และยังเป็นสถานที่ฝึกหัดเรียนดำน้ำ ซึ่งในแต่ละวันจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่าวชาติ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประมาณ 10,000-20,000 คน/วัน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท/วัน สามารถเดินทางได้ทั้งจากเรือสปีดโบ้ท หรือเรือเฟอร์รี่ที่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย

ทช.ลุยเกาะล้านเปิดพื้นที่ Sea walker เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว

 

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้พาคณะสื่อมวลชนเดินทางไปยังเกาะสาก จังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมดำน้ำติดตามผลการจัดการพื้นที่ Sea walker ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งเป็นการท่องเที่ยวใต้ท้องทะเลอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะนำอุปกรณ์หัวครอบที่มีลักษณะใสมาให้นักท่องเที่ยวสวมระหว่างที่ลงไปใต้ท้องทะเล พร้อมมีระบบหายใจใต้น้ำที่มีสายออกซิเจน ต่อมาจากบนเรือ โดยจะอยู่ความลึกระดับ 7–10 เมตร การใช้บริการจะใช้เวลา 15-20 นาทีต่อรอบ โดยเจ้าหน้าที่จะประคองให้นักท่องเที่ยวลงสู่พื้นทะเลก่อน หลังจากนั้นจะปล่อยให้นักท่องเที่ยวได้ชมฝูงปลา และความงดงามของปะการัง โดยที่ยังคงหายใจได้ตามปกติ

ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ในไทยพบมากสุดในพื้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ในอดีตการท่องเที่ยวลักษณะนี้อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียบย่ำปะการัง การทิ้งสมอในแนวปะการัง การให้อาหารสัตว์น้ำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์น้ำในพื้นที่ 

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลและรับผิดชอบในการปกป้อง คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้เข้าไปบริหารจัดการพื้นที่และควบคุมกิจกรรมทางน้ำต่างๆ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

อีกทั้งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศ เช่น การกำหนดมาตรการและการควบคุมกำกับดูแลกิจกรรมการเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล (Sea Walker) เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการัง ตามที่เมืองพัทยาได้อนุญาตกำหนดเขตพื้นที่ที่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ทั้งหมด 38 แปลงนอกแนวปะการังธรรมชาติ 
 

ทช.ลุยเกาะล้านเปิดพื้นที่ Sea walker เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว

ทช.ลุยเกาะล้านเปิดพื้นที่ Sea walker เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว

 

พร้อมกันนี้ กรมทช. ได้กำหนดแนวทางในการจัดการพื้นที่ซีวอล์กเกอร์ โดยการกำหนดมาตราการประกอบกิจการซีวอล์กเกอร์ เช่น พื้นที่ดำเนินการซีวอล์กเกอร์ต้องไม่อยู่ในแนวปะการังธรรมชาติ ไม่ให้อาหารปลา ลดฝุ่นตะกอนจากซีวอล์กเกอร์ โดยต้องมีวัสดุปูพื้นขณะเดินใต้ทะเลและกั้นราวรั้วไม่ให้ออกนอกแนวเขตจุดไม่เกิน 30X30 ตรม. พื้นที่ประกอบกิจกรรมซีวอล์กเกอร์ต้องมีการกำหนดแนวทุ่นที่ชัดเจน ตลอดจนอบรมให้ความรู้ในหลักสูตรการอนุรักษ์ด้านต่างๆ ให้กับกลุ่มชุมชนชายฝั่ง เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น อบรมการปลูกปะการัง เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับเจ้าหน้าที่ในการช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการซีวอล์กเกอร์ให้พัฒนาพื่นที่ที่ได้รับอนุญาตให้แหล่งท่องเที่ยวใต้น้ำแหล่งใหม่ เกิดความสวยงามและความหน้าสนใจ เช่น การจัดวางประติมากรรมใต้น้ำ การจัดวางปะการังเทียม เป็นต้น เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยว เกิดฐานเศรษฐกิจใหม่สร้างรายได้โดยไม่กระทบต่อและพลังธรรมชาติในพื้นที่ 

ทช.ลุยเกาะล้านเปิดพื้นที่ Sea walker เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว

ทช.ลุยเกาะล้านเปิดพื้นที่ Sea walker เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว

สำหรับอุปกรณ์ซีวอล์กเกอร์จะเป็นระบบหัวสวม มีน้ำหนักประมาณ 10 กก. เพื่อกดไม่ให้หัวลอย แต่เมื่ออยู่ในน้ำจะไม่หนัก ส่วนด้านหลังจะมีหัวจุกที่เครื่องปั้มอากาศด้านบนเรือที่ต่อสายจากเรือ เมื่อนักท่องเที่ยวลงไปใต้ทะเลแล้ว จะสวมหัวเพื่อดันอากาศเข้าไปที่ตัวซีวอล์กเกอร์ โดยคนที่ดำน้ำจะมีอากาศทำให้ลอยตัวในน้ำได้ และบนเรือจะมีเครื่องอัดปั้มอากาศสำหรับดำน้ำอัดเก็บไว้ในถัง เมื่อความดันได้ก็จะส่งต่อลงไปยังหัวสวม นอกจากนี้ ขอเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายมองเห็นทรัพยากรทางทะเลสำคัญกว่าเรื่องของรายได้จากการท่องเที่ยว หากพบเจอผู้กระทำผิดกฎหมายทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง อีกทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐาน และตรวจสอบข้อมูลก่อนออกใบอนุญาตให้กับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและไกด์นำเที่ยวอีกด้วย จากนั้นเดินทางไปยังหาดเกเร เกาะล้านเพื่อร่วมติดตามผลการปลูกปะการังเพื่อเพิ่มพื้นที่แนวปะการัง และปลูกปะการังนอกพื้นที่แนวปะการังแล้วประสบผลสำเร็จ

ทช.ลุยเกาะล้านเปิดพื้นที่ Sea walker เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว

ทช.ลุยเกาะล้านเปิดพื้นที่ Sea walker เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว

ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ อธิบดี ทช. กล่าวถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า แนวปะการังบริเวณหาดเกเรอยู่ในสภาพที่เสียหายมาก มีเศษซากปะการังแตกหัก คาดว่าในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีปะการังเขากวางอยู่มาก ซึ่งพิจารณาเห็นแล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพในการฟื้นตัวได้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงเร่งดำเนินการฟื้นฟูแนวปะการังโดยการย้ายปลูก นำเศษชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในพื้นที่ที่มายึดติดให้มั่นคงด้วยการยึดกับอิฐบล็อค จากผลการติดตามเบื้องต้นพบว่า ปะการังที่ย้ายปลูกมีอัตรารอดสูงและเติบโตได้ดี แนวปะการังที่เคยเสื่อมโทรม ปัจจุบันสถานภาพสมบูรณ์ดีมาก มีการปกคลุมของปะการังมีชีวิตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นในช่วงการเกิดปะการังฟอกขาวที่ผ่านมา (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2567) จะพบปะการังเขากวางทั้งในธรรมชาติและที่ย้ายปลูกในพื้นที่เกาะล้านได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวน้อยมาก ในขณะที่แนวปะการังส่วนใหญ่ทั่วประเทศเกิดการฟอกขาวในระดับรุนแรง 

ทช.ลุยเกาะล้านเปิดพื้นที่ Sea walker เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว

ทช.ลุยเกาะล้านเปิดพื้นที่ Sea walker เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม วิธีการปลูกจากกิ่งพันธุ์ปะการังที่แตกหักที่ได้รับความเสียหาย เป็นการพัฒนาให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เกิดเป็นระบบนิเวศปะการังที่สวยงาม ตลอดจนสามารถส่งเสริมให้เป็นแหล่งดำน้ำลึก สร้างรายได้ จากการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงการสร้างเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้จดแจ้งเป็นกลุ่มชุมชนชายฝั่งภายใต้มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 เพื่อให้ชุมชนชายฝั่งและผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกิดความรักความหวงแหนในทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันปกป้อง ดูแล และการอนุรักษ์ไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกด้วย