เมื่อวันจันทร์ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีประกาศลดโทษประหารชีวิตแก่นักโทษ 37 คน จากทั้งหมด 40 คน และให้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโดยไม่มีโอกาสได้รับการพักการลงโทษ ซึ่งคนเหล่านี้กระทำความผิดในคดีฆาตกรรมเกี่ยวเนื่องจากการลักลอบค้ายาเสพติด การฆาตกรรมเจ้าหน้าที่พัศดี หรือ นักโทษคนอื่น
ไบเดน บอกว่า เขาประณามฆาตกรเหล่านี้ และแสดงความเสียใจแก่เหยื่อเคราะห์ร้าย และครอบครัวของผู้เสียชีวิต แต่เขามั่นใจมากกว่าว่า ควรยุติการใช้โทษประหารในระดับรัฐบาลกลาง และไม่อาจทนเห็นรัฐบาลใหม่กลับมาใช้โทษประหารที่เขาพยายามหยุดยั้ง
การตัดสินใจของไบเดนได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวางจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน อย่าง แอมเนสตี อินเตอร์แนชันแนล แต่เผชิญเสียงประณามอย่างรวดเร็วจากสมาชิกพรรครีพับลิกันบางคน รวมถึงทีมถ่ายโอนอำนาจของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพันธมิตรของเขา รวมไปถึงเผชิญกระแสโกรธแค้นจากญาติของผู้เสียชีวิต
ทีมของทรัมป์ ระบุในแถลงการณ์ว่า นักโทษที่ได้รับการลดโทษประหารชีวิตเป็นหนึ่งในฆาตกรที่เลวร้ายที่สุดของโลก และการตัดสินใจของไบเดนเป็นการตบหน้าเหยื่อ ครอบครัว และบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา แต่ทรัมป์ยืนหยัดเพื่อหลักนิติธรรม ที่จะกลับคืนมาเมื่อทรัมป์กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในเดือนมกราคมปีหน้า
หญิงคนหนึ่งสูญเสียแม่จากเหตุการณ์ปล้นธนาคาร โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ไบเดนไม่คำนึงถึงเหยื่อ ทั้งเขาและผู้สนับสนุนเป็นคนที่มือเปื้อนเลือด
นอกจากนี้สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคน วิจารณ์ว่า การตัดสินใจของไบเดนเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบ และทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว รวมถึงเป็นการเข้าข้างอาชญากรมากกว่าชาวอเมริกันที่เคารพกฎหมาย
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมกำลังจับตาว่า นโยบายโทษประหารชีวิตของรัฐบาลกลางจะเป็นอย่างไรเมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 2
ที่ผ่านมาการลงโทษประหารชีวิตของรัฐบาลกลางไม่ค่อยเกิดขึ้นนักจนกระทั่งทรัมป์เข้ารับตำแหน่งสมัยแรก และในสมัยไบเดน เขากลับมาระงับโทษประหาร
แต่ทรัมป์ให้คำมั่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะกลับมาใช้โทษประหารในระดับรัฐบาลกลางอีกครั้ง และขยายการบังคับใช้โทษประหารภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มโทษประหารชีวิตสำหรับคดีอาญาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คดีฆาตกรรม ซึ่งรวมถึง คดีข่มขืนเด็ก, คดีค้ายาเสพติดและค้ามนุษย์ และผู้อพยพที่ฆ่าพลเมืองหรือตำรวจสหรัฐฯ
ความพยายามของทรัมป์อาจเผชิญความท้าทายทางกฎหมาย โดยในปี 2551 ศาลฎีกาสหรัฐฯ เคยพิพากษาไว้ว่า ผู้กระทำผิดคดีข่มขืนเด็ก ไม่อาจต้องโทษประหารชีวิตได้ จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่า โทษประหารจะสามารถใช้กับอาชญากรรมอื่น ๆ ที่เหยื่อไม่ได้ถูกฆ่าหรือไม่
และการขยายโทษประหารในระดับรัฐบาลกลางจำเป็นต้องอาศัยสภาคองเกรสแก้ไขกฎหมาย อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญ เตือนว่า แม้ทรัมป์ไม่มีอำนาจโดยตรงเกี่ยวกับโทษประหารในระดับรัฐ แต่จุดยืนของทรัมป์ที่สนับสนุนโทษประหาร อาจทำให้มีการบังคับใช้โทษประหารในระดับรัฐต่าง ๆ เพิ่มขึ้น