2 ธันวาคม 2567 จากสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสงขลา หลังจากฝนตกหนักติดต่อกันในช่วงวันที่ 26-28 พ.ย. 2567 ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอำเภอเทพา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
ในวันนี้ (2 ธ.ค. 2567) นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นางปวีณ์ริศา เกิดสม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา และนายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้นำทีมปฏิบัติการบินสำรวจโดยเฮลิคอปเตอร์ ฮ.ปภ.32 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในอำเภอเทพา พร้อมกับนำถุงยังชีพจำนวนหนึ่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยตรง
ทั้งนี้ ระหว่างการสำรวจ พบว่าหลายพื้นที่ในอำเภอเทพายังคงมีน้ำท่วมขัง แม้ว่าระดับน้ำจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง นายโชตินรินทร์ จึงได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการฟื้นฟูพื้นที่อย่างเร่งด่วน ทั้งการแจกจ่ายถุงยังชีพ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก และการเร่งดำเนินการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด
ผู้ว่าฯ สงขลา ลงติดตามสถานการณ์น้ำ อ.เทพา สั่งเร่งฟื้นฟู สำรวจความเสียหาย
นอกจากขึ้น ฮ.บินสำรวจแล้ว ผู้ว่าฯ โชตินรินทร์ ได้ลงพื้นที่อำเภอเทพา เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพ ติดตามสถานการณ์หลังน้ำลด และยังได้เดินสำรวจพื้นที่ชาวบ้าน เพื่อมอบถุงยังชีพสำหรับบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ระหว่างการล้างทำความสะอาดบ้านด้วย
นายโชตินรินทร์ เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่อำเภอเทพา ตนได้สั่งการให้เร่งฟื้นฟูเยียวยา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อาจจะยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้สะดวก ให้นำอาหารน้ำดื่มเข้าไปส่งมอบให้ถึงบ้าน
ส่วนภาพรวมของสถานการณ์น้ำทั้งจังหวัดสงขลา วันนี้ถือว่าเข้าสู่วันที่ 6 ที่รับมือกับสถานการณ์อุทกภัย ทุกอำเภอ ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 2 แสนครอบครัว หรือประชากรกว่า 5 แสนคน เมื่อวานก็เร่งระบายน้ำ 1 ชม. ระบายน้ำได้กว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อ 1ชั่วโมง โดยหลังน้ำลด ในพื้นที่ 10 อำเภอหลัก โดยเฉพาะพื้นที่ความมั่นคงทั้ง อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี อ.จะนะ ได้สั่งให้เร่งสำรวจความช่วยเหลือแล้ว ส่วนอำเภอหาดใหญ่ และ อ.สะเดา ก็ได้เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือ เพื่อนำรายชื่อเข้าสู่ฐานข้อมูลในการจ่ายเงินเยียวยาให้ได้ทันที
ห่วง 8 อำเภอติดทะเลมีน้ำท่วมขัง คาดอีก 2-3 สัปดาห์น้ำลด
นายโชตินรินทร์ เปิดเผยด้วยว่า ส่วนพื้นที่บริเวณคาบสมุทร หรือที่ติดกับทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา อีก 8 อำเภอ เช่น อำเภอระโนด อำเภอสะทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสิน น้ำจะลงไปบริเวณดังกล่าว ทำให้จะมีน้ำท่วมขังไปอีก 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้พื้นที่คาบสมุทรจะเดือดร้อน ในเรื่องปัจจัยการดำรงชีพต่างๆ ทำให้ทุกภาคส่วนที่ประสานกำลังเข้ามาให้การช่วยเหลือ ก็จะเร่งส่งข้าวสารอาหารแห้งเข้าไป รวมถึงเรื่องสุขอนามัยด้วยที่ให้สาธารณสุขจัดชุดเข้าไปดูแลประชาชน และให้ปศุสัตว์ไปดูแลสัตว์ใหญ่ ซึ่งสิ่งที่ยังห่วงเป็นคือเรื่องปัจจัย 4 ที่จะต้องให้ความสำคัญและการประกอบอาชีพ
ส่วนทั้งจังหวัดจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้เมื่อไหร่นั้น ผู้ว่าฯ สงขลา บอกว่า สถานการณ์จนถึงวันที่ 2 ธ.ค. 2567 มรสุมคลี่คลายแล้ว จึงคาดว่าถ้าสถานการณ์คลี่คลายแบบนี้ ความหนักจะค่อยๆ บางลง แต่ก็ยังต้องยืนระยะเฝ้าระวังไปจนถึงวันที่ 5 ธ.ค.ก่อน ส่วนเมื่อน้ำลดสิ่งที่จะต้องเร่งทำคือ ต้องเร่งกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูลด้วย
ขณะที่เดียวกัน พื้นที่น้ำลดโดยเฉพาะพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ก็จะต้องเร่งทำความสะอาดในการฟื้นฟูพื้นที่ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยเทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลนครสงขลา จะมีท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่ดูแล นอกจากนี้ยังได้มีทีมช่างจิตอาสา ที่เข้ามาเปิดจุดบริการประชาชนตามชุมชนในการช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ให้กับประชาชนด้วย
ชาวบ้านเริ่มทำความสะอาด-ซื้อของเข้าบ้าน ขณะที่ ร้านค้าเทขายขาดทุน
ขณะเดียวกัน ทีมข่าว "เนชั่นทีวี" ได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.สงขลา พบว่า หลายพื้นที่น้ำแห้งแล้ว ทั้ง อ.หาดใหญ่ พื้นที่เศรษฐกิจก็แห้งไปตั้งแต่เมื่อวาน เหลือ 4 อำเภอติด 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังมีน้ำอยู่บ้าง แต่ล่าสุด เช้าวันนี้ น้ำใน 4 อำเภอก็เริ่มแห้งแล้ว อย่างอำเภอเทพา เมื่อวานยังมีน้ำท่วมอยู่ วันนี้แห้งไปเกือบหมดแล้ว
โดยที่อำเภอเทพา จ.สงขลา โดยเฉพาะเขตเทศบาลตำบลเทพา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและเป็นพื้นที่รับน้ำ เช้าวันนี้น้ำแห้งลงไปเกือบหมดแล้ว เหลือพื้นที่ต่ำๆ บางจุดเท่านั้น ขณะที่ถนนที่เคยน้ำท่วม อย่างถนนเกษตรขันธ์ กลับมาสัญจรได้ตามปกติ พื้นที่ทางราชการอย่างที่ว่าการอำเภอ น้ำก็ลดลงไปหมดแล้วเช่นกัน
และเช้าวันนี้ชาวเทศบาลตำบลเทพา ก็เริ่มกลับมาล้างข้าวของเครื่องใช้ ทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะในย่านนี้จะเป็นร้านค้า ร้านขายของต่างๆ เพราะเป็นย่านเศรษฐกิจของอำเภอเทพา ก็เริ่มกลับมาเปิดร้านให้บริการ แต่หลายร้านก็ตัดสินใจขายสินค้าที่ถูกน้ำท่วมในราคาถูก อย่างร้านค้าแห่งหนึ่ง ที่ขายพลาสติก เขาบอกว่าสินค้าเสียหายไป 70% วันนี้ก็นำมาขายลดราคาไปประมาณ 20-30% จากราคาปกติ นอกจากนี้ ร้านขายส่งขนาดใหญ่ของเทศบาลตำบลเทพา วันนี้เขาก็เอาของมาเทขายขาดทุนกันเลย
ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับเจ้าของร้าน เขาพาเดินสำรวจความเสียหายในร้าน และโกดังเก็บสินค้า พบว่า มีการทำความสะอาดไปแล้ว แต่สินค้าเสียหายไป 70% ของร้าน เพราะพื้นที่ในร้านน้ำเข้าท่วมสูงเกือบ 1 เมตร แม้ยกของขึ้นที่สูงแล้วแต่ก็ไม่พ้น เจ้าของร้าน บอกว่า ความเสียหายครั้งนี้ กว่าล้านบาท ทำให้วันนี้ตัดสินใจเอาของมาขายขาดทุน เพื่อจะได้มีเงินทุนมาเริ่มต้นใหม่
ขณะเดียวกัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หลังน้ำลด เขาก็ออกมาซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค เข้าบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขามองว่า การได้มาซื้อสินค้าลดราคาช่วยทำให้พวกเขาลดภาระค่าใช้จ่ายหลังเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมไปได้มาก เพราะจะทำให้มีเงินเหลือเอาไว้ไปซ่อมแซมของที่พังเสียหายได้อีก
สำหรับภาพรวมของอำเภอเทพา ที่รับผลกระทบ มีทั้งหมด 7 ตำบล 67 หมู่บ้าน กว่า 12,500 ครัวเรือน หรือประมาณกว่า 50,000 คน