svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าวทั่วไทย

"ทุ่งบางระกำ" อ่วม! มวลน้ำเหนือทะลักเข้าแล้ว 110% ของความจุ

อย่าลืมฮีโร่ที่นี่! "ทุ่งบางระกำ" อ่วม! มวลน้ำเหนือทะลักเข้าพื้นที่เกินความจุ 110% ถนน-บ้านเรือนจมมิด ระดับน้ำยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านบอกปีนี้น้ำมาเยอะกว่าปีก่อน

30 กันยายน 2567 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก อยู่ในโซนทุ่งบางระกำโมเดล กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำ ที่ท่วมในลุ่มน้ำยม ไหลหลากลงมาในแม่น้ำยมสายเก่า และแม่น้ำยมสายหลัก พื้นที่ได้รับผลกระทบได้แก่ อำเภอพรหมพิราม บ้านแม่ระหัน ตำบลบ้านกร่าง , อำเภอเมืองพิษณุโลก และอำเภอบางระกำ

ขณะนี้น้ำเต็มทุ่งบางระกำโมเดล 100% แล้ว ปริมาตรกักเก็บน้ำในทุ่งวันนี้อยู่ที่ 440 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง ของความจุเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีความจุ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร) ขณะที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มต่อเนื่อง เพราะยังมีน้ำจากต้นทางที่จังหวัดแพร่และสุโขทัย กำลังเดินทางมาเพิ่มเติมอีก 
\"ทุ่งบางระกำ\" อ่วม! มวลน้ำเหนือทะลักเข้าแล้ว 110% ของความจุ
 

นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก กล่าวว่า แม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น และต้องเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำยม ที่จะส่งผลให้ระดับน้ำ และปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกเพิ่ม โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 30 ก.ย.-3 ต.ค.67

ในส่วนแม่น้ำยมสายเก่า ที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม , อ.เมือง ลงมา อ.บางระกำ ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการระบายน้ำพื้นที่ตอนบนเพิ่มขึ้น สำหรับพื้นทุ่งหน่วงน้ำตามโครงการบางระกำ เพื่อรองรับน้ำหลาก หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีปริมาณน้ำที่รับเข้าทุ่งหน่วงน้ำเกินศักยภาพแล้ว 440 ล้าน ลบ.ม (110%) แม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (ที่สถานีวัดน้ำ Y.64 ปริมาณน้ำไหลผ่าน 621 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำสูง 8.23 ม. (สูงกว่าตลิ่ง + 1.83 เมตร/ และสูงกว่าระดับวิกฤติ เขตชุมชน +0.93 เมตร) ระดับน้ำเพิ่มจากเมื่อวาน 8 ซม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม่น้ำยมสายเก่า ที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 240 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ -0.20 เมตร/ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 

“โครงการบางระกำโมเดล ” พื้นที่รองรับน้ำหลากหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเขตชลประทาน (ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม) เก็บเกี่ยวแล้ว 100 % และปัจจุบันรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำ ปริมาณน้ำที่รับเข้าพื้นที่ 201,599 ไร่ (76%) ปริมาณน้ำ 440 ล้าน ลบ.ม (110%)” 
\"ทุ่งบางระกำ\" อ่วม! มวลน้ำเหนือทะลักเข้าแล้ว 110% ของความจุ
 

ขณะที่วันนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ในเขตอำเภอบางระกำ ระดับน้ำที่เคยท่วมทุ่งอยู่แล้วเมื่อเดือนก่อน ได้เพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ คลองบางแก้ว ตำบลท่านางงาม และคลองวังแร่ ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ระดับน้ำล้นตลิ่งไหลท่วมทุ่งนา และที่บ้านเรือนราษฎรในที่ต่ำ ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ต่างเก็บทรัพย์สินของมีค่าและสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง 
\"ทุ่งบางระกำ\" อ่วม! มวลน้ำเหนือทะลักเข้าแล้ว 110% ของความจุ

โดยเฉพาะถนนสายหลักในหมู่บ้าน ขณะที่การสัญจรไปมาจำนวนมากได้ใช้เรือ และได้ออกหาปลาเป็นอาชีพเสริม มีรายได้วันละหลักร้อยบาทขึ้นไป ส่วนที่ถนนสาย บ้านกรุงกรัก-บางบ้า เส้นทางสัญจรเชื่อมระหว่างตำบลท่านางงาม และตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ขณะนี้น้ำที่ท่วมทุ่งได้เริ่มไหลท่วมผิวการจราจรแล้ว ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สูงอยู่ที่ 30 -40 เซนติเมตร รถเล็กเริ่มสัญจรผ่านไม่ได้ ขณะที่รถกระบะในวันนี้ยังสัญจรผ่านได้ แต่คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่กำลังเดินทางมา ในอีก 3-4 วันข้างหน้ารถยนต์กระบะ จะไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 
\"ทุ่งบางระกำ\" อ่วม! มวลน้ำเหนือทะลักเข้าแล้ว 110% ของความจุ

ขณะที่ บริเวณ ประตูระบายน้ำบางแก้ว ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ ที่รับน้ำมาจากแม่น้ำยมสายเก่านั้นระดับน้ำได้ไหลล้นทางระบายน้ำล้น ระดับน้ำวันนี้อยู่ที่ 41 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดเมื่อปี 54 ร่วม 2 เมตร และจะเป็นระดับที่ชลประทาน จะควบคุมไม่ให้สูงไว้มากไปกว่านี้ เนื่องจากถ้าสูงเกิน 42 เมตร จะกระทบกับเส้นทางสัญจรภายในหมู่บ้าน เช่นเดียวกับประตูระบายน้ำท่านางงาม ตำบลท่านางงาม ที่รับน้ำจากแม่น้ำยมสายหลัก วันนี้ได้ยกบานประตูลอย เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทิศใต้ต่อไป 
\"ทุ่งบางระกำ\" อ่วม! มวลน้ำเหนือทะลักเข้าแล้ว 110% ของความจุ

นายทิว เขาแก้ว อายุ 51 ปี ชาวบ้าน ม.3 ตำบลชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก บอกว่า ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำน่าจะพอๆ กับปี 2566 แต่ไม่น่าจะเท่ากับปี 2554 พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ของโครงการบางระกำโมเดล เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้เริ่มหน่วงน้ำเข้าพื้นที่  ตอนนี้น้ำเข้าพื้นที่ทุ่งบางระกำเต็มทุ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้ล้นจนเกิดวิกฤติ

แต่มีพื้นที่ต่ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นขึ้นมา คนในพื้นที่เองก็รู้อยู่แล้ว เขาเตรียมตัวไว้อยู่แล้วว่า  ต้องใช้พื้นที่ตรงนี้รับน้ำโครงการบางระกำโมเดล รู้ว่าต้องหน่วงน้ำเก็บน้ำไว้ก่อนช่วยๆ กันไป ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่มองว่า การที่เราได้เสียสละเป็นพื้นที่หน่วงน้ำไว้มันก็ดีอย่าง เราก็ได้ช่วยคนอื่นด้วย และเราก็ได้เก็บน้ำไว้ด้วย

สามารถหาปูหาปลา เป็นรายได้เสริมได้ เวลาน้ำไปหมด เราก็ยังมีน้ำเหลือไว้ทำนาในครั้งต่อไป เพราะพื้นที่ตรงนี้จะทำนาได้แค่ ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น เอาง่ายๆ คือหลังเดือนสิงหาคมไปแล้วเราก็จะไม่ทำนากันแล้ว เหมือนหันมาเตรียมตัวหาปูหาปลากัน จนไปถึงช่วงเดือนธันวาคม ฝนแรกมา เราถึงจะลงมือทำนากันอีกครั้ง 
\"ทุ่งบางระกำ\" อ่วม! มวลน้ำเหนือทะลักเข้าแล้ว 110% ของความจุ

ด้าน นายประดิษฐ์ สุดสันต์ อาย 44 ปี ชาวบ้าน ม.3 บ้านวังแร่ ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ เปิดเผยว่า ช่วงน้ำท่วมทุ่ง พวกตนได้ประกอบอาชีพเสริมออกหาปลา โดยใช้เรือไปออกวางข่ายในช่วงค่ำ และเก็บกู้ปลามาในช่วงเช้า จากนั้นก็นำปลามาขอดเกล็ดควักไส้ในออก และคลุกเคล้ามากับเกลือ นำไปขายส่งได้กิโลกรัมละ 20 บาท เพื่อแปรรูปเป็นปลาร้า ช่วงนี้น้ำเหนือกำลังมาใหม่ๆ น้ำจะขุ่นแดง และปลาที่ติดขายนั้นจะตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากน้ำขุ่น ปลาที่หามาได้จริงค่อนข้างจะสภาพไม่สด จึงต้องขายเป็นปลาร้าได้อย่างเดียว มีรายได้ประมาณวันละ 90-100 กว่าบาท 
\"ทุ่งบางระกำ\" อ่วม! มวลน้ำเหนือทะลักเข้าแล้ว 110% ของความจุ