3 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนโกวิทธำรงเชียงใหม่ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่จัดการซ้อมแผนเผชิญเหตุ
"หนุ่มเสพยาป่วยจิตคลั่ง" ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด และลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติด
สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 มีข้อสั่งการให้ทุกจังหวัดบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด และลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติด
รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 25 จังหวัด ในการปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน
โดยให้บูรณาการหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีความพึงพอใจและเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและสุขภาพจิต
ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ มีสถิติบุคคลคลุ้มคลั่ง ที่รับแจ้งเหตุและนำส่งโดย 1669 ในปี 2565 จำนวน 216 ครั้ง และในปี 2566 เพิ่มเป็น 346 ครั้ง โดยกรมสุขภาพจิต มีการคาดการณ์ว่ามีกลุ่มเสี่ยงคลุ้มคลั่งที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษากว่า 125,994 ราย
ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้กำหนดจัดการซ้อมแผนเผชิญเหตุ กรณีผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติดก่อความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการซ้อมแผนเผชิญเหตุฯ ระดับจังหวัด มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นการซ้อมแผนเผชิญเหตุ กรณีผู้ป่วยจิตเวชที่มีประวัติใช้สารเสพติด ก่อเหตุรุนแรงในชุมชน
โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งมีการยกระดับของสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรง เป็นกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่มีประวัติใช้สารเสพติด ขาดการรักษาและก่อเหตุในสถานศึกษา มีการขู่วางเพลิง และจับนักเรียนเป็นตัวประกัน จึงต้องมีการจัดการในระดับจังหวัด มีการควบคุม ระงับเหตุ
ซึ่งมีการแสดงให้เห็นถึงวิธีการเจรจา การใช้เครื่องมือควบคุม และการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้บาดเจ็บ รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เพื่อติดตามสถานการณ์ สั่งการ และประสานความร่วมมือของแต่ละหน่วยงานในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการจำลองเหตุการณ์ที่สมจริง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงในชุมชนการซ้อมแผนครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของทุกภาคส่วนในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน