svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ทั่วไทย

เปิดเหตุผล ทำไมชาวบ้านเห็นด้วยกับแนวเขตใหม่อุทยานฯทับลาน

ชาวบ้านหลายพันคน แห่แสดงความเห็นปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เห็นด้วยให้ใช้แนวเขตใหม่ เพราะเดือดร้อนจากพื้นที่ทับซ้อน ทำกินลำบาก

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชน และประชาชน ในการปรับปรุงแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี  โดยใช้แนวเขตที่มีการสำรวจเมื่อ ปี พ.ศ.2543  ตามมติคณะรัฐมนตรี มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะส่งผลให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มีเนื้อที่หายไปประมาณ 265,000 ไร่ 

วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่  5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.สระแก้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ตามแนวทางรับฟังความคิดเห็นฯ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ในการกำหนดพื้นที่ การขยาย และการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ พ.ศ.2564 และแนวทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมีชาวบ้านใน 4 อำเภอของ จ.นครราชสีมา ได้แก่ อ.วังน้ำเขียว , อ.ปักธงชัย , อ.ครบุรี , อ.เสิงสาง จำนวนกว่า 2,000 คน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เดินทางไปร่วมรับฟังความคิดเห็นฯ

เปิดเหตุผล ทำไมชาวบ้านเห็นด้วยกับแนวเขตใหม่อุทยานฯทับลาน

การจัดประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 เห็นชอบแนวทางการใช้แนวเขตที่มีการปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ.2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐบูรณาการ มาตราส่วน 1: 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบแนวทางดังกล่าว โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามอำนาจและหน้าที่ที่ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด อุทยานแห่งชาติทับลาน จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกรมอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่ให้สงวน อนุรักษ์ คุ้มครองและบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติและความหลากหลายของทางชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดและยั่งยืน 

โดย นายอุดม คูณขุนทด สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสะแกราช เปิดเผยว่า ในฐานะเป็นตัวแทนชาวบ้านหมู่ที่ 13 บ้านโคกไผ่แก้ว ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแผนที่ ปี 2524 ทับซ้อนที่ดินของราษฎรในชุมชนเต็มๆ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ทำไร่ หรือปลูกสร้างอะไรก็ยาก ทำมาหากินลำบาก ต้องยึดตามข้อปฏิบัติของอุทยานฯ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยให้ยึดตามแนวเขตปี 2543 ส่วนเรื่องเอกสารสิทธิ์ สปก.ก็อยากให้แปรสินทรัพย์เป็นทุนได้ ก็จะเกิดประโยชน์กับชาวบ้านอย่างมาก 

เปิดเหตุผล ทำไมชาวบ้านเห็นด้วยกับแนวเขตใหม่อุทยานฯทับลาน

ด้านนางสมบูรณ์ ขามกิ่ง หนึ่งในชาวบ้านบ้านคลองไทร ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา  บอกว่า มาร่วมประชุมครั้งนี้ เพื่อจะมาขอให้ยึดตามแนวเขต ปี 2543 เพราะแม่ของตนมีที่ทำกินอยู่บริเวณที่มีการทับซ้อนแนวเขต ประมาณ 70 ไร่ โดยแนวเขตปี 2524 ทับซ้อนกับเอกสารสิทธิ์ สปก.อยู่ จึงอยากให้ยึดแนวเขตฯ ปี 2543 ซึ่งเป็นปัจจุบันมากกว่า แต่ถ้าไม่ได้ ก็ยังต้องทำมาหากินในพื้นที่นั้นตามเดิม จะถอยร่นออกไปก็ชนเขา ขยับไปที่อื่นไม่ได้แล้ว ต้องทนอยู่ต่อไป เพราะครอบครัวทำกินในที่ดินผืนนี้มาตั้งแต่แม่ยังไม่เกิด ส่วนตนก็อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด เมื่อพ.ศ.ปี 2515 จนตอนนี้อายุ 52 ปีแล้ว ซึ่งแผนที่ปี พ.ศ.2524 ประกาศภายหลังและยังทับซ้อนที่ทำกินของครอบครัวอีก จึงอยากให้รัฐบาลได้เห็นใจและให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้ด้วย 

เปิดเหตุผล ทำไมชาวบ้านเห็นด้วยกับแนวเขตใหม่อุทยานฯทับลาน

ขณะที่ นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า “อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุม อ.ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,387,375ไร่ หรือ 2,334.80 ตารางกิโลเมตร เดิมประกาศเป็นป่าไม้ถาวร ตามมติคณะรัฐมนตรีปี พ.ศ 2506 เพื่อสงวนคุ้มครองไว้ซึ่งพื้นที่ป่า ต่อมาจึงประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 3 ป่า ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี ป่าสงวนแห่งชาติป่าแกงดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน และป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว ตามประกาศกฎกระทรวงป่าสงวนแห่งชาติปี พ.ศ 2515 ตามลำดับ 

ต่อมา มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2532 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณป่าที่ดินเปล่าวังน้ำเขียวและป่าครบุรี ในพื้นที่ ต.สะแกราช ต.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย ต.ครบุรี ต.จระเข้หิน ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี และ ต.สระตะเคียน ต.โนนสมบูรณ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ต.บุพราหมณ์ ต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอน 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 ของประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม อุทยานแห่งชาติทับลาน มีสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีป่าลานซึ่งหาดูยาก มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ลำธารต่างๆ มีธรรมชาติที่สวยงาม เช่นหุบผา น้ำตก เป็นอุทยานที่มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ 

การเชิญพี่น้องประชาชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดแนวเขตฯ ซึ่งมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบให้ใช้แนวที่สำรวจแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ 2543 เอามาเป็น One Map ระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลาน และ สปก.  เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ว่าเห็นด้วยหรือไม่ในการกำหนดแนวเขตดังกล่าว จากนั้นจะสรุปเพื่อนำเสนอให้กับกรมอุทยานฯ ได้รับทราบต่อไป