วันที่ 2 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดสระแก้ว ได้เผยแพร่เอกสารผลงานด้านการป้องกันการทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2566 ในการสรุปผลการปฏิบัติงานในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมา พบว่า ทาง ปปช.จ.สระแก้ว ได้ให้ข้อเสนอแนะและข้อสังเกตแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว เพื่อให้พิจารณาระงับโครงการจัดซื้อเสาไฟแบบรอกสลิงหมุนยก พร้อมโคมไฟถนนแอลอีดีประกอบแบตเตอรี่ และอุปกรณ์การประจุแบตเตอรี่ในตัว แบบใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ พร้อมการติดตั้ง จำนวน 870 ชุด ราคาชุดละ 69,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 60,030,000 บาท ในปีงบประมาณ 2566 โดยใช้วิธีคัดเลือกตามบัญชีนวัตกรรมไทย ฉบับเพิ่มเติม กันยายน 2565 ซึ่งมีราคาสูงและเสี่ยงต่อการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ในการจัดซื้อพัสดุ ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ที่องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) จำนวนมากใช้วิธีนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่นมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยในที่สุดแล้ว ทาง อบจ.สระแก้ว ได้ยกเลิกโครงการดังกล่าว เพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้าน นายหิรัญ ไชยกันยา ผู้อำนวยการสำนักงาน ปปช. ประจำจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ โครงการในลักษณะดังกล่าว ทาง อบจ.สระแก้ว ได้เคยดำเนินการสำเร็จมาแล้ว 1 โครงการ โดยได้ติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 500 ชุด รวมเป็นเงิน 34,500,000 บาท ในปีงบประมาณ 2565 โดยใช้เงินงบประมาณที่โอนมาจากโครงการ Smart School Solution ของโรงเรียนในสังกัด อบจ. สระแก้ว 2 แห่ง คือโรงเรียนวัฒนานคร และโรงเรียนชุมชนบ้านโนนจิก ซึ่งได้ยกเลิกโครงการ แล้วโอนงบประมาณทั้งหมดมาตั้งจ่ายเป็นรายการใหม่ เพื่อใช้ในโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้า โคมไฟ และอุปกรณ์อื่น ๆ สำเร็จลุล่วงไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกโครงการดังกล่าว เนื่องจาก อบจ.สระแก้ว เตรียมจะจัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีราคาสูง และจะมีการจัดซื้อจำนวนมาก ทางสำนักงาน ปปช.สระแก้ว จึงได้ร่วมกับชมรม Strong-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสระแก้ว ลงพื้นที่จับตามองและสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานผลการวิเคราะห์การดำเนินโครงการส่งให้ อบจ.ดำเนินการวิเคราะห์คุณภาพความสว่าง ตามมาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะ การดูแลรักษา และการซ่อมบำรุงเปรียบเทียบกับเสาไฟประเภทอื่นที่อาจมีราคาถูกกว่า แต่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงกว่า นอกจากนี้ การดำเนินการโดยใช้วิธีคัดเลือกผู้ประกอบการจากบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ เป็นเครื่องมือทางนโยบายในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ถือว่าเป็นประเด็นความเสี่ยงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ ในการจัดซื้อพัสดุตามบัญชีนวัตกรรมไทย ที่สุดแล้ว อบจ.สระแก้ว ได้พิจารณายุติโครงการ จึงนำไปสู่การยับยั้งความเสี่ยงในการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกตามบัญชีนวัตกรรมไทยที่ ปปช.สระแก้ว ดำเนินการสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย