วันนี้ (7 กันยายน 2566) ในพื้นที่สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายไสว จิตเพียร ประธานชมรมปิยธรรมเพื่อความเป็นธรรม และ ร.อ.ประมาณเลิศ อัจฉริยปัญญากุล เลขานุการชมรมฯ พร้อมด้วยนางชูชีพ-นายสมบูรณ์ บางวัฒนกุล สองสามีภรรยาชาวภูเก็ต ผู้อ้างสิทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ 44802 (ออกจาก นส.3ก เลขที่ 137) ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งานเศษ ซึ่งได้รับผลกระทบจากกรณีธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต กรมธนารักษ์ ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้ ทั้งๆ ที่ได้มีการซื้อขายมาอย่างถูกต้อง และผ่านกระบวนการต่างๆ ทางกฎหมายมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่การซื้อ-ขาย, การนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองกับสถาบันการเงิน, การนำ นส.3 ก ยื่นขอออกโฉนด, การยื่นขออนุญาตสร้างอาคาร เป็นต้น แต่ไม่มีการร้องคัดค้านจากหน่วยงานภาครัฐหรือธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ตแต่อย่างใด ก่อนที่จะนำเรื่องเข้ายื่นฟ้องเอาผิดผู้อำนวยการสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต และอธิบดีกรมธนารักษ์ ต่อศาลจังหวัดภูเก็ต ในข้อหา กระทำละเมิด ติดตามที่ดินคืน และเรียกค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทร.สั่งระงับรีสอร์ตสุดหรู 6 ห้อง หน้าผายอดเขาแสมสาร สร้างบนที่ราชพัสดุ
เอาผิด "วัดท่าไม้ 2" กรมธนารักษ์ กองทัพบก ร่วมแจ้งความบุกรุกที่ราชพัสดุ
ด้าน ร.อ.ประมาณเลิศ อัจฉริยปัญญากุล เลขานุการชมรมฯ กล่าวว่า เมื่อประมาณ 4 เดือนก่อน ลูกชายของนางชูชีพฯ ได้มาร้องเรียนและขอความช่วยเหลือว่า ที่ดินของแม่ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื่องที่ประมาณ 1 ไร่เศษ ซึ่งซื้อจากเจ้าของเดิมมาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งมีหลักฐานเป็น นส.3 ก และต่อมาได้มีการขอออกโฉนดตามขั้นตอน แต่ต่อมาภายหลังธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต ได้ประกาศขึ้นทะเบียนที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ และไม่มีการบอกกล่าวใดๆ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับครอบครัว หลังรับเรื่องได้ส่งนักกฎหมายและทีมงานลงมาสำรวจพื้นที่ เพื่อหาความจริงและตรวจสอบข้อมูลด้านเอกสารกับหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงในส่วนของธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ตด้วย ซึ่งพบว่าเป็นไปตามที่ได้รับการร้องเรียน จึงรับเป็นทนายความ
จากการสอบถามนางชูชีพฯ ผู้เสียหายทราบว่า ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาเจ้าของเดิมเมื่อปี 2539 ซึ่งก่อนตัดสินใจซื้อขายได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพที่ดินจริง พบมีสภาพรกร้างเป็นป่า จึงได้ไปตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่ดินอำเภอถลางซึ่งยืนยันว่าสามารถซื้อขายได้ จึงตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งมีเอกสารสิทธิ เป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 137 ออกเมื่อปี 2521 และได้นำไปจำนองกับสถาบันการเงิน ซึ่งก็ไม่มีปัญหาจากนั้นได้นำไปขอออกโฉนด มีการทำการรังวัดแนวเขต และไม่มีผู้ร้องคัดค้าน รวมทั้งเจ้าของที่ดินใกล้เคียง จนสามารถออกโฉนดได้สำเร็จ ต่อมาธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต ได้นำช่างรังวัดไปวัดที่ดินแปลงดังกล่าว โดยระบุว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุ แต่จากการตรวจสอบไม่พบหลักฐานว่า มีการบริจาคที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับทางธนารักษ์หรือหน่วยงานใด และได้มีการไปขึ้นป้ายประกาศเป็นที่ราชพัสดุ โรงเรียนบ้านสาคูเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ห้ามบุกรุก ซึ่งที่ผ่านเจ้าของที่ดินได้พยายามติดต่อเพื่อขอดูหลักฐานการบริจาคหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงมาตลอด ซึ่งการขึ้นป้ายดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อเนื่อง
ร.อ.ประมาณเลิศ กล่าวอีกว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวผู้เสียหายซื้อมาตั้งแต่ปี 2539 และมีการครอบครองทำประโยชน์มาโดยตลอด แต่ธนารักษ์ฯ มาขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุที่ ภก.216 เมื่อปี 2543 โดยที่ไม่มีหนังสือบอกกล่าวกับผู้เสียหายแม้แต่ฉบับเดียว และผู้เสียหายไม่ทราบมาก่อน กระทั่งในปี 2557 ได้ไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารกับ อบต.สาคู ซึ่งได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างและถูกระงับชั่วคราวเนื่องจากมีเรื่องของความทับซ้อนในสิทธิการครอบครอง โดย อบต.สาคู ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานที่ดินอำเภอถลาง ซึ่งได้มีการตอบกลับมาว่า น.ส.3ก. เลขที่ 137 ต.สาคู ได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 44802 มีชื่อของ นางชูชีพ บางวัฒนกุล เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนที่ดินดังกล่าวทับซ้อนกับที่ดินราชพัสดุหรือไม่ จากการตรวจสอบไม่ปรากฎหลักฐานการได้มาของที่ราชพัสดุแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามเลขาชมรมฯ กล่าวว่า จากพยานหลักฐานต่างๆ ที่รวบรวมได้ และทางผู้เสียหายเห็นพ้องให้มีการยื่นฟ้องธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต เป็นจำเลยที่ 1 และอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาหรือฐานความผิด กระทำและละเมิด ติดตามที่ดินคืน และเรียกค่าเสียหาย เพื่อให้จำเลยคืนสิทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในแผนที่ที่ราชพัสดุทะเบียน ภก.216 เป็นโมฆะ ใช้บังคับมิได้ ห้ามจำเลยทั้งสอง และบริวารเข้าไปขัดขวางรบกวนสิทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินตามฟ้องทั้งหมด ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้รดังกล่าว เป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไป ความจริงๆ แล้วในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีกรณีที่มีผู้เสียหายถูกนำที่ดินไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุอีกหลายราย และได้มายื่นเรื่องกับทางชมรมฯ ไว้แล้ว หลังจากนี้จะนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการตรวจสอบทั้งระบบ เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ด้านนางชูชีพ และ นายสมบูรณ์ บางวัฒนกุล ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว กล่าวทั้งน้ำตา ว่า ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น เพราะตนมีการซื้อขายอย่างถูกต้อง และก่อนตัดสินใจซื้อก็มีการตรวจสอบหลักฐานต่างๆ จนเกิดความชัดเจน และเมื่อครอบครองแล้วยังนำไปทำธุรกิจกรรมต่างๆ ได้ ที่ผ่านมาหลังทราบเรื่องได้พยายามติดตามทวงถามขอความเป็นธรรมมาโดยตลอด หรือให้เขายืนยันมาว่า มีหลักฐานอะไรจะได้รู้ ไม่ใช่ปล่อยไว้อย่างนี้ แต่ไม่เป็นผล จนเผ่านมาแล้วกว่า 7 ปี ไม่คิดว่าจะสู้ได้เพราะไปหาใครก็บอกแต่ว่า สู้กับรัฐสู้ยาก โอกาสชนะน้อยมาก แต่เรายืนยันในหลักฐานที่มี และนับว่าโชคดีที่พบกับทางชมรมปิยธรรมฯ และยอมที่จะเข้ามาช่วยในการทวงสิทธิกลับมาเป็นของเรา.