18 สิงหาคม 2566 กำลังเป็นปัญหาอย่างมาก สำหรับกรณีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ของ เอเลี่ยนสปีชีส์ อย่าง ปลาหมอสีคางดำ ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติของประเทศไทย ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังหาทางเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่พบว่า มีการแพร่ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ล่าสุด นายกองเอก อาวุธ วิเชียรฉาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร , ประมง , ตัวแทนเกษตรกร ตลอดจนผู้นำชุมชน ในพื้นที่ที่พบปัญหาการแพร่ระบาดของ "ปลาหมอสีคางดำ" ได้ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจ และติดตามสถานการณ์ใน คลองสุนัขหอน อ.เมืองสมุทรสาคร กับ คลองยกระบัตร อ.บ้านแพ้ว
ซึ่งพบว่า ทั้งสองคลองนั้น มีปริมาณ ปลาหมอสีคางดำ อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เมื่อลองใช้แหเหวี่ยงลงไป ก็ได้แต่ ปลาหมอสีคางดำ ติดขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่ มีปลาชนิดอื่น ที่รอดพ้นจากการล่า ของ ปลาหมอสีคางดำ ติดขึ้นมาบ้างเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็แทบจะหาไม่เจอ
นายกองเอก อาวุธ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดจาก ปลาหมอสีคางดำ นี้ มีมาได้ราว 4 ปีแล้ว และเริ่มมีการระบาดหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันกลายเป็นปัญหา ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ ของสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ
โดย ปลาหมอสีคางดำ จะกินตัวอ่อน หรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก ทั้งในบ่อเลี้ยงและในแหล่งน้ำสาธารณะ ตามลักษณะนิสัยที่ปลาหมอสีคางดำ เป็นปลานักล่า กินสัตว์น้ำอื่น ๆ เป็นอาหาร และขยายพันธุ์เร็วมาก
สำหรับยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ สรุปในภาพรวมเป็นแนวทาง คือ 2 ป. 2 บ. โดย ป.ที่ 1 ได้แก่ การ “ป้องกัน” ได้แนะนำให้เกษตรกร ทำการกรองน้ำ ที่จะปล่อยลงบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่าง ๆ หรือใช้กากชากำจัดสัตว์ที่ไม่ต้องการ ก่อนปล่อยสัตว์น้ำที่จะทำการเพาะเลี้ยงลงในบ่อ ,
ส่วน ป.ที่ 2 ได้แก่ การ “ปราบปราม” หรือ “การกำจัด” จะมีทั้งการใช้คนจับ โดยส่งเสริมการจับปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น จัดกิจกรรมแข่งขันจับปลาหมอสี การสนับสนุนเครื่องมือจับปลาชนิดนี้ให้แก่เกษตรกร และอีกวิธีคือใช้สัตว์นักล่า จับปลาหมอสีคางดำ โดยปล่อยปลากะพงขาว ลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งปลากะพงขาวจะไปกินปลาหมอสีคางดำ เป็นการกำจัดโดยธรรมชาติ เรียกวิธีนี้ว่า ปลากินปลา หรือ นักล่ากำจัดนักล่า
ส่วน 2 แนวทางที่เหลือนั้น บ.ที่ 1 คือ การ “บริโภค” หรือนำไปใช้ประโยชน์ โดยภาครัฐต้องเข้ามาส่งเสริม สร้างความรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนว่า เมื่อจับปลาหมอสีคางดำขึ้นมาแล้วจะเอาไปไหน หรือทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมีทั้งการจับขายเลยแบบสด ๆ เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปแปรรูป หรือนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น , ขายแบบแปรรูป เช่น ปลาแดดเดียว ,
ภาครัฐจัดหาผู้รับซื้อเพิ่ม ให้แก่ผู้จับปลาหมอสีคางดำ เช่น ขณะนี้ประมงจังหวัดได้ติดต่อเจรจา กับผู้ผลิตปลาร้าในจังหวัดภาคอีสาน เพื่อซื้อขายไปทำปลาร้า , ทั้งยังมีการวางแนวทางระยะกลาง ที่จะของบประมาณเพื่อประกันราคาของ ปลาหมอสีคางดำ อีกด้วย (ปัจจุบันโรงงานปลาป่นรับซื้อ กิโลกรัมละ 4.50 - 5 บาท)
และแนวทางสุดท้าย บ.ที่ 2 คือ การ “บริหารจัดการ” โดยทางจังหวัดจัดตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรจัดตั้งกลุ่ม เพื่อดำเนินการทุกยุทธศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ เช่น รวมกลุ่มกันจับปลา ตั้งจุดรวบรวมขายปลา และการประชาสัมพันธ์นั่นเอง
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวทิ้งท้ายว่า ปลาหมอสีคางดำ จัดเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน จึงมีกฎหมาย ห้ามปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ และห้ามเลี้ยงอย่างเด็ดขาด เพราะปลาชนิดนี้ จะไปทำลายระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสัตว์นักล่า และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
ถ้าพี่น้องประชาชน หรือเกษตรกรพบเห็นการกระทำที่ฝ่าฝืนฯ นอกจากต้องช่วยกันตักเตือน หรือแจ้งจับผู้กระทำผิดแล้ว ยังต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันกำจัด ปลาหมอสีคางดำ ให้หมดไปจากธรรมชาติ ด้วยวิธีที่ภาครัฐได้แนะนำไปแล้วด้วย เพื่อช่วยกันระงับหรือยุติการแพร่พันธุ์ และยับยั้งการแพร่ระบาดของ ปลาหมอสีคางดำ ทั้งในแหล่งน้ำสาธารณะ และแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร