จากกรณีพนักงานโรงแรมดัง โพสต์แชตไลน์สนทนากับพี่กบ คาดว่าเป็นหัวหน้างาน ว่า ขอลางานเพราะแม่ป่วยหนัก แต่หัวหน้างานไม่อนุญาต ยืนยันต้องกลับมาทำงาน ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง พนักงานคนเดิมแชตกลับไปบอกหัวหน้างานว่า แม่เสียชีวิตแล้ว ต้องไปจัดการงานศพ แต่กลับถูกพี่กบสวนกลับ เสร็จจากงานศพให้มาเขียนใบลาออก ซึ่งโพสต์ดังกล่าว ชาวเน็ตต่างออกมาตำหนิพี่กบว่าเป็นหัวหน้าใจดำ จนกลายเป็นกระแสดรามาในโลกโซเชียล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
17 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว โดยนายนิสัย สุขระ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ภายหลังทราบเรื่องจากสื่อต่าง ๆ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานเดินทางไปตรวจสอบที่โรงแรมดังกล่าว แต่ไม่พบผู้บริหารของโรงแรมซึ่งเป็นนายจ้าง พบเพียงหัวหน้า รปภ. เท่านั้น
โดยหัวหน้า รปภ.แจ้งว่า ผู้บริหารเดินทางไปร่วมงานศพของแม่พนักงานคนดังกล่าวที่ จ.บุรีรัมย์ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ต้องอยู่ที่ผู้บริหารเท่านั้น เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานจึงได้มีหนังสือเชิญนายจ้างให้มาพบในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องของกฎระเบียบเรื่องของการลากิจที่โรงแรมกำหนดไว้
แต่ถ้าดูตามกฎหมายแรงงานนั้น ให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็นได้ ปีละไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างในวันที่ลากิจธุระ เท่ากับวันทำงานปกติได้ปีละไม่เกิน 3 วันทำงาน ซึ่งทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ก็จะดูว่ากรณีที่ลูกจ้างลากิจธุระไปดูแลแม่ที่ป่วย และต่อมาแม่ก็เสียชีวิตลงนั้น ลูกจ้างได้ใช้สิทธิในการลากิจธุระอันจำเป็นอะไรไปบ้างแล้วหรือไม่
นายนิสัย กล่าวอีกว่า กรณีของการจ้างและการเลิกจ้าง เป็นสิทธิของนายจ้าง แต่ก็ต้องดูเหตุว่าเข้าข่ายข้อยกเว้นที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เข้าข่ายข้อยกเว้น นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย แต่หากเข้าข่ายข้อยกเว้นนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างตามอายุงาน และตามข้อกฎหมายที่กำหนด
ถ้าเข้าข่ายข้อยกเว้น และมีลูกจ้างมายื่นคำร้องกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ก็จะเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยคำร้อง พร้อมกับเชิญฝ่ายนายจ้างเข้าพบเพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายมีการตกลงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการยินยอมรับเข้าทำงานตามปกติ หรือหากไม่รับเข้าทำงานแต่มีการจ่ายเงินชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด การยื่นคำร้องก็จะเป็นอันยุติลง
แต่หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ พนักงานตรวจแรงงานก็จะมีคำสั่งเป็นหนังสือภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างมายื่นคำร้อง โดยประมวลตามข้อมูลเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน แล้ววินิจฉัยออกมาว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยหรือไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายได้รับหนังสือคำสั่งไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังสือคำสั่งให้ลูกจ้างได้รับเงินค่าชดเชยก็ตาม หรือหนังสือคำสั่งลูกจ้างไม่ได้รับเงินค่าชดเชยก็ตาม ทั้งสองฝ่ายก็สามารถนำหนังสือคำสั่งนี้ไปยื่นอุทธรณ์ที่ศาลแรงงานภาค 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมาได้ภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้รับหนังสือคำสั่ง
ถ้าหากนายจ้างเป็นฝ่ายอุทธรณ์ กรณีพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จ่ายเงินชดเชย นายจ้างก็ต้องนำเงินตามจำนวนในคำสั่งนั้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ศาลก่อน จึงจะสามารถขอยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ถ้าหากภายใน 60 วัน เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วน ก็มีสิทธิขอขยายเวลาต่อได้อีก 30 วัน ซึ่งกรณีการขอขยายเวลาก็จะเป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด จะพิจารณาอนุญาตให้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม กรณีลูกจ้างรายนี้ที่เป็นข่าว ขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างรายนี้ไปแล้วหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องรอนายจ้างมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง ในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม นี้