14 กรกฎาคม 2566 จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก โพสต์คลิปวิดีโอ "สาวอุบล" ถูกหลอกไปทำงานพีอาร์ แต่กลับถูกบังคับค้าประเวณี โดยปรากฎภาพ นางสาวเก๋ (นามสมมติ) อายุ 35 ปี ได้วิดีโอคอลโชว์บัตรประชาชน ร่ำไห้ขอความช่วยเหลือให้พากลับประเทศ โดยระบุว่า เธอและเพื่อนรวม 4 คน ถูกหลอกไปทำงานเป็นพีอาร์ ที่ ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา แต่สุดท้ายถูกบังคับให้ขายบริการ ที่เขตปกครองพิเศษเมืองป๊อก ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เคยติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน กลับได้รับคำตอบเพียงว่าให้รอ
กระทั่งได้ของความช่วยเหลือจากเพจดัง และมีนักธุรกิจชาวจีน ช่วยออกเงินค่าไถ่ให้ก่อน ทำให้หลุดออกมาจากโรงแรมที่ใช้ขายบริการได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาไทยได้ เนื่องจากไม่มีเงินคืนให้กับนักธุรกิจจีนรายนี้ ที่เป็นคนดูแลออกค่าที่พักและค่าไถ่ตัวให้ รอเพียงวันที่ทางบ้านจะหาเงินมาคืนแล้วกลับบ้าน ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หน่วยงานรัฐเร่งประชุมช่วยเหลือสาวอุบลฯ
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายหน่วยงานทางราชการ กำลังเร่งประชุมช่วยเหลือสาวอุบล และสาวไทยที่ถูกบังคับค้าประเวณีเมืองป๊อก โดยนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้สั่งการให้ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี แรงงานจังหวัดอุบลราชธานี ปกครองจังหวัดอุบลราชธานี กอรมน.จังหวัดอุบลราชธานี และ เข้าประชุมร่วมกับ พ.ต.อ.คนองฤทธิ์. ดาราช ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือ
การประชุมครั้งนี้ได้ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งที่ประชุมเชื่อว่า สาวไทยทั้งหมด 4 คน เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เบื้องต้นทางกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะได้มีการติดต่อไปยังนางสาวเก๋ เพื่อสอบถามข้อมูลและจะได้ทำเรื่องส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศในการประสานงานกับทางการพม่า ช่วยนำตัวสาวไทยทั้งหมดกลับมายังประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลการช่วยเหลือปัจจัยปัญหาต่างๆที่จะเข้าเจรจาช่วยเหลือ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของการดำเนินการ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนระหว่างประเทศ และเพื่อความปลอดภัยเหยื่อ
อย่างไรก็ตามสำหรับคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวนมากทั้งสมัครใจไปเอง โดนหลอกให้ไปก็ตาม ทางรัฐบาลเองไม่มีงบประมาณในส่วนการไถ่ตัว หรือค่าเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้น การที่รับบาลจ่ายเงินให้อาจจะเป็นการสร้างบรรทัดฐาน ทำให้มีการลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เพราะคิดว่าหากมีปัญหารัฐบาลจะมาช่วยซึ่งรัฐไม่สามารถทำได้ยกเว้นบางกรณี