29 มิถุนายน 2566 ความคืบหน้ากรมศุลกากรจับทุเรียนเถื่อน น้ำหนักกว่า 8 ตัน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ในพื้นที่ จ.สระแก้ว โดยระบุ เป็นทุเรียนมีถิ่นกำเนิดต่างประเทศ ไม่ปรากฎเอกสารหลักฐานแสดงการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงยึดของกลางทั้งหมดส่งดำเนินคดี ต่อมาเจ้าของล้งทุเรียน ได้ร้องเรียนกับ นายอัมรินทร์ ยี่เฮง เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสระแก้ว ยืนยันว่า ทุเรียนดังกล่าวซื้อมาอย่างถูกต้อง จากเจ้าของสวนในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ
ตามมาด้วยการที่ต่างฝ่าย ต่างนำข้อมูลออกมาโต้กัน โดยเฉพาะประเรื่องการพบมี ใบ GAP ปรากฏชื่อในการขนส่งทุเรียนชุดนี้ ชื่อ นายสมัย สุยคำไฮ เกษตรกรสวนทุเรียน ม.10 ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งนายสมัย ยืนยันว่า ทุเรียนที่ถูกตรวจยึด ไม่ใช่ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษที่สวน เชื่อมีขบวนการสวมสิทธิ์ GAP นั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
29 มิถุนายน 2566 นายสมัย สุยคำไฮ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนภูเขาไฟ จ.ศรีสะเกษ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ขุนหาญ เพื่อแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ภายหลังเอกสารสำเนาใบรับรอง GAP ของตน ที่ถ่ายให้กับคู่สัญญาซื้อขายทุเรียน ที่ไม่ได้ลงชื่อกำกับไว้ ถูกนำไปสวมสิทธิ์ ลงลายมือชื่อว่าตกลงซื้อขายทุเรียน จำนวน 17,000 กิโลกรัม
ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์พัฒนาเกษตรภูสิงห์ มาตรวจสอบและขอเปรียบเทียบลายมือกับเอกสารฉบับดังกล่าว ปรากฎว่าไม่ตรงกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่เตือนว่า ให้ระมัดระวังการมอบเอกสารให้ใคร มิฉะนั้นอาจจะโดนยกเลิกใบรับรอง GAP ได้ วันนี้จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐาน และประกาศห้ามบุคคลใดนำใบสำเนาเอกสารใบรับรอง GAP ของตนไปใช้เป็นหลักฐานในการขนส่งทุเรียน โดยที่ตนไม่ใช่เป็นคู่สัญญาโดยตรง หากพบหลักฐานก็จะดำเนินคดีกับทุกราย
ด้าน นายวิริโย กาญจนบริสุทธิ์ เจ้าของผู้รับผิดชอบล้ง ตรงจุดบ้านซำขี้เหล็ก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนเคยดูข่าวปีที่ผ่านมา มีคนจีนลักลอบนำเข้าทุเรียนนำเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้การซื้อขายทุเรียนจะออกจากสวน ต้องมีใบรับรอง GAP เพราะล้งจะต้องนำไปขายส่งต่อ ออกจากสวนไหนก็จะต้องขอใบรับรองจากสวนนั้น
หลังเป็นข่าวก็ต้องระวังการลักลอบนำเข้าทุเรียนจากเพื่อนบ้าน แม้ราคาจะถูกกว่าบ้านเรา แถมไม่ต้องเสียภาษี แต่ตนว่าไม่คุ้มในการกระทำผิด และคุณภาพทุเรียนก็สู้บ้านเราประเทศไทยไม่ได้ เลยไม่น่าทำจะดีกว่า ตามข่าวทุเรียนที่ถูกจับบรรทุกรถ 6 ล้อ ซึ่งในการขนส่งจริง พวกเราไม่ใช้รถบรรทุก 6 ล้อ เพราะทุเรียนจะช้ำเยอะ ส่วนใหญ่จะใช้รถบรรทุกเล็ก สองแถว แม้บรรทุกได้ไม่มาก แต่ทุเรียนจะเสียหายน้อยเวลาขนส่งทางไกล