22 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 3.00 น. บริเวณหาดทุ่งวัวแล่น ม.8 ต. สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ชาวบ้านพบปลาหลากหลายชนิดทั้งเล็ก-ใหญ่ ว่ายมาเกยตื้นตายเต็มหาดทุ่งวัวแล่น ต.สะพลี
น.ส.เดือน เล่าว่า ตนทำงานอยู่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ช่วงเวลาตี 5 ที่ผ่านมา ตนเข้าทำงานที่ร้าน เห็นชาวบ้านเยอะมากกว่าปกติ ถึงกับงง ที่แรกนึกว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จึงได้เดินไปดู พบชาวบ้านหลายสิบคน ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ต. สะพลีและที่อยู่หาดทุ่งวัวแล่น เฮโลออกมาเก็บปลาที่มาเกยตื้นริมฝั่ง “หาดทุ่งวัวแล่น” ที่มีทั้ง ปูม้า กุ้งมังกร และสัตว์น้ำนานาชนิด ว่ายมาเกยตื้น บางตัวดิ้นดีดตัวเพื่อเอาชีวิตรอด เกลื่อนเต็มหน้าหาดทุ่งวัวแล่น จนมาถึงบ่ายวันนี้ ก็ยังมีขึ้นมาเกยตื้นอยู่เรื่อยๆ
จากนั้น ผู้สื่อข่าวเดินตระเวนริมหาดทุ่งวัวแล่น ที่มีชาวบ้านเก็บซากปลา บ้างก็เอาไปทำปุ๋ย และยังมีคนมารับซื้อ และได้สอบถามชาวบ้านที่พึ่งเดินทางมาจากตำบลอื่น เล่าให้ฟังว่า ตนพึ่งทราบเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมาเลยชวนเพื่อนมาร่วมเก็บปลาที่เกยตื้นในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นปลาแป้นตัวเล็กๆ แล้วเห็นชาวบ้านเล่าในพื้นที่ได้เล่าให้ตนฟังว่าเช้ามืดที่ผ่านมามีเยอะมากแล้วตัวใหญ่ๆด้วย
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า ปลาที่มาเกยตื้นตายในครั้งนี้เกิดจากอาการ “ปลาน็อคน้ำ” หรือ “น้ำตาย” ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่มีฝนตกสลับกับแดดออก ทำให้สัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวปรับสภาพไม่ทัน เลยทำให้ว่ายมาเกยตื้นตายในครั้งนี้ และได้สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
ขณะที่ในโลกออนไลน์ ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายราย เผยแพร่ภาพปรากฎการณ์คลื่นซัดปลาทะเลขึ้นมาตายเต็มชายหาด โดยเฉพาะที่หาดทุ่งวัวแล่น อ.ปะทิว จ.ชุมพร เช่นเดียวกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่โพสต์ภาพปลานับตายเกลื่อนหาด พร้อมระบุว่า เป็นปรากฏการณ์ ปลาตายน้ำแดงริมหาดทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร ตั้งแต่อยู่ทะเลมาปีนี้เยอะที่สุด "หลายล้านตัว"
โดยภาพที่ปรากฏจะเห็นชัดเจนว่ามีปลาจำนวนมากที่คลื่นซัดขึ้นมาเต็มชายหาดทุ่งวัวแล่น ตลอดความยาวประมาณ 3-4 กิโลเมตร โดยมีชาวบ้านระบุว่าส่วนใหญ่เป็นปลาแป้น แต่ก็มีสัตว์ทะเลอื่นๆทั้งปูและปลาขนาดใหญ่ที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้ แต่ด้วยจำนวนปลาตัวเล็กที่มีจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านเก็บไปไม่หมด แม้ว่า ชาวบ้านบางรายได้ช่วยกันเก็บ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้สัตว์เลี้ยงและทำปุ๋ยหมักก็ตาม
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่เนื่องจากครั้งนี้จำนวนปลาตายมากกว่าทุกครั้ง ทำให้ชาวบ้านได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่สัตว์ทะเลได้รับผลกระทบมากกกว่าทุกครั้ง รวมถึงให้หน่วยงานท้องถิ่นช่วยเข้ามาเก็บซากปลาที่ตายเกลื่อนหาดไปกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้ปลาเน่าส่งกลิ่นเหม็นบนชายหาดต่อไป
ล่าสุดเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดชุมพร ได้เดินทางไปตรวจสอบและยืนยันว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี จากภาวะน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติไหลมาผสมกับน้ำเค็ม เกิดแพลงก์ตอนสีเขียวที่เรียกว่า “แพลงก์ตอนบลูม” ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำทะเลลดลง ทำให้ปลาที่หากินอยู่ตามชายฝั่งขาดอากาศหายใจและตายในที่สุด