svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ทั่วไทย

ลงแขกจับ "ปลาหมอคางดำ" หลังชาวบ้านร้อง เป็นสปีชีส์ทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่น

ผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม นำ จนท.ประมง และชาวบ้านร่วมกันลงแขกลงคลองจับ "ปลาหมอคางดำ" หลังชาวบ้านร้องเรียน เป็นสายพันธุ์สปีชีส์ทำลายสัตว์น้ำเศรษฐกิจพื้นถิ่น

21 มิถุนายน 2566 ที่คลองสัมมะงา คลองสาธารณะในพื้นที่หมู่ 4 ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และนายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดและชาวบ้าน ได้ร่วมกันลงแขกภายในคลองเพื่อจับ "ปลาหมอคางดำ" หลังชาวบ้านร้องเรียนว่าเอเลี่ยนสปีชี่ส์ ไม่ใช่สายพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นถิ่น ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งนำเข้ามาเพื่อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ เมื่อ 6-7 ปีก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นปลาเนื้อแข็ง ก้างเยอะ ไม่อร่อย จึงไม่เป็นที่ต้องการของตลาด และมีการทิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์แหล่งน้ำของจังหวัดสมุทรสงคราม และอาจรวมถึงระดับประเทศในอนาคตด้วย 
ลงแขกจับ \"ปลาหมอคางดำ\" หลังชาวบ้านร้อง เป็นสปีชีส์ทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่น
ทั้งนี้จากการวางอวนล้อมในคลองสัมมะงา ซึ่งมีความกว้างประมาณ 5 เมตร น้ำลึกระดับเอว ระยะทางเพียง 80 เมตร แต่ได้ปลาหมอคางดำทั้งตัวเล็กตัวใหญ่เกือบ 100 กิโลกรัม โดยพบปลานิลซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นขนาดตัวเท่ากับปลาหมอคางดำ เพียง 2 ตัวเท่านั้น

ลงแขกจับ \"ปลาหมอคางดำ\" หลังชาวบ้านร้อง เป็นสปีชีส์ทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่น
นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า การลงแขกจับปลาหมอคางดำครั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานประมงจังหวัดฯ ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ว่าปลาหมอคางดำ แพร่ระบาดเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา กัดกินสัตว์น้ำชนิดอื่นที่ตัวเล็กกว่า เช่นลูกปลาและกุ้ง รวมทั้งสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นอาหาร คล้ายเอเลี่ยนสปีชี่ส์ทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น มีนิสัยดุร้าย ปากใหญ่ เนื้อบาง ก้างเยอะ จึงไม่เป็นที่นิยมนำไปรับประทาน 

ส่วนที่มาของการแพร่ระบาด คาดว่าจะมาตั้งแต่ก่อนปี 2559 ที่ปลาหมอคางดำหลุดรอดลงสู่เเหล่งน้ำธรรมชาติ  เนื่องจากมีผู้นำมาทดลองปรับปรุงสายพันธุ์ โดยในจังหวัดสมุทรสงครามพบการแพร่ระบาดมากที่สุดใน ต.แพรกหนามแดง ต.ยี่สาร และ ต.คลองโคน
ลงแขกจับ \"ปลาหมอคางดำ\" หลังชาวบ้านร้อง เป็นสปีชีส์ทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่น
ที่ผ่านมาสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงครามได้มอบพันธุ์ปลากระพงให้เกษตรกรนำไปปล่อยในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ  เพื่อให้กัดกินทำลายลูกปลาหมอคางดำ แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากปลาหมอคางดำขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก โดยขยายพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 2 เดือน ตัวเมียที่ตั้งท้องจะตกลูกได้ท้องละ 300-500 ตัว  โดยตัวผู้จะทำหน้าที่เลี้ยงลูก ส่วนตัวเมียทำหน้าที่ตั้งท้องเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำควบคู่กันไปในการกำจัดปลาหมอคางดำขณะนี้ คือการสนับสนุนชาวบ้านจับปลาหมอคางดำขายให้โรงงานปลาป่นนำไปทำอาหารสัตว์

ด้าน นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ช่วงนี้มีโรงงานปลาป่นรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 6-7 บาท เพื่อนำไปทำอาหารสัตว์ ชาวบ้านก็เริ่มจับปลาหมอคางดำไปขาย นอกจากจะมีรายได้แล้ว  น่าจะทำให้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเบาบางลง อย่างไรก็ตาม จังหวัดมีกองทุนประกันราคารับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกร กรณีขายโรงงานได้ราคาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท ก็จะชดเชยส่วนที่ต่ำกว่า 5 บาทให้