16 พฤษภาคม 2566 ที่ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (บช.ภ.7) พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ "รองอ๊อฟ" เดินทางเข้าพบตำรวจกองปราบปราม เพื่อรับทราบข้อหา "ช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลงโดยการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด" ภายหลังตำรวจกองปราบปราม พบพยานหลักฐาน เป็นคนช่วยย้ายกระเป๋า "เท้าแชร์ก้อย" ซึ่งหลักฐานทางคดี เพื่อช่วยอำพรางความผิดให้กับแอม
ทั้งนี้ ระหว่างที่ตำรวจคุมตัว พ.ต.ท.วิฑูรย์ ไปห้องสอบสวนชั้น 3 ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงประเด็นต่าง ๆ แต่ พ.ต.ท.วิฑูรย์ ไม่ยอมตอบคำถามใด ๆ
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้เรียกประชุมตำรวจชุดสืบสวนคลี่คลายคดี "แอม ไซยาไนด์" ภายหลังเข้าสอบปากคำเพิ่มเติม นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ภายในทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (15 พฤษภาคม)
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เบื้องต้นนางสรารัตน์ ให้การรับสารภาพว่า ได้นำสารไซยาไนด์ ไปให้ น.ส.ศิริพร ขุนวงษ์ หรือ เท้าแชร์ก้อย ใช้ผสมกับยาเสพติด เพื่อทดลองเสพ จนทำให้เสียชีวิต และอ้างว่า นำสารไซยาไนด์มาจากนายแด้ สามีของแอมที่เสียชีวิต เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566
สำหรับประเด็นนี้ ได้มีการตรวจสอบกับตำรวจปราบปรามยาเสพติด ระบุว่า ช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา การจับผู้ต้องหาคดียาเสพติด รวมทั้งการตรวจยึดส่วนผสมของแหล่งผลิต ทั้งยาบ้า เฮโรอีน และไอซ์ ยังไม่เคยพบว่า มีไซยาไนด์ เป็นสวนผสมกับยาเสพติด ซึ่งสารไซยาไนด์ ถือวาเป็นสารพิษมีความอันตราย จึงไม่มีเหตุผลที่จะนำมาผสมกับสารเสพติด
ขณะเดียวกันในช่วงบ่าย ตำรวจได้เชิญ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจําภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มารายงานผลการตรวจสอบสารเคมี ที่ตรวจยึดได้จากการตรวจวัตถุพยาน จำนวน 296 รายการ จาก 18 เคส ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว