29 มีนาคม 2566 ที่ จ.เพชรบูรณ์ ชาวเน็ตในพื้นที่ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก “ข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์” โพสต์ข้อความว่า “โครงการก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดเพชรบูรณ์ไปถึงไหนแล้วครับ วางศิลาฤกษ์เมื่อ 29 มีนาคม 2562 ชาวบ้านฝากถามมา มีการเปิดรับบริจาคคับคั่ง โครงการไปถึงไหน อย่างไรน้อ”
ซึ่งต่อมา ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น อย่างมากมาย เช่น “เห็นรูปแล้วสวยดีค่ะ อยากรู้วัตถุประสงค์ว่า สร้างเพื่ออะไร" "เคยได้ยินข่าวมานานแล้วว่า ยอดบริจาคค่อนข้างเยอะ และงบประมาณก็เยอะเช่นเดียวกัน ไม่รู้จริงหรือเปล่า" "เรื่องนี้ตั้งแต่ผมเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมา 3 ปีที่แล้วครับ เห็นว่าจะก่อสร้าง" "ของบบริจาคทุกหมู่บ้านภายในจังหวัดเพชรบูรณ์ คิดเอาว่าเป็นเงินเท่าไหร" "ตามที 4 ปีล่ะ" "อีก 100 ปีผมก็ว่าไม่เสร็จกินกันหมดแล้ว" ฯลฯ
โดยกรณีนี้ ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปดูใน เพจพุทธมณฑลจังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า มีการเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 63 เป็นการประชาสัมพันธ์ ขอเชิญร่วมบริจาคและบูชาวัตถุมงคล เพื่อสมทบทุนสร้างพุทธมณฑลจังหวัดเพชรบูรณ์ หลังจากนั้นก็ไม่มีความเคลื่อนไหวของเพจดังกล่าวเลย
ทำให้ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบพบว่า มีป้ายบอกทางริมถนนสระบุรี - หล่มสัก ชี้ไปยัง พุทธมณฑลจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ตั้งอยู่หลังศาลากลาง จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่บริเวณดังกล่าว กลับยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า มีหญ้าขึ้นสูง
มีคนงานที่กำลังก่อสร้าง ผนังกั้นน้ำคลองแม่น้ำเก่า ใช้ทำเป็นแคมป์ที่พักคนงาน ไม่มีร่องรอย หรือแนวโน้มว่า จะดำเนินการก่อสร้างใด ๆ อีกทั้งก็ยังไม่พบแท่น ที่ใช้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 62 แต่อย่างใด
สำหรับโครงการก่อสร้าง พุทธมณฑลจังหวัดเพชรบูรณ์ เกิดขึ้นในสมัย นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด บริเวณที่จะก่อสร้าง เป็นของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เพชรบูรณ์ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ พช 861 ต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ ตำแหน่งพื้นที่แปลง R 10 เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา
วัตถุประสงค์การสร้าง เพื่อเป็นศูนย์กลางทำนุบำรุง และเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางศึกษา ค้นคว้า อบรม สัมมนา ปฏิบัติธรรม และวิปัสสนากรรมฐานของพระภิกษุสงฆ์ และประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบ โฮโลแกรม(Hologram) เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ทั้งในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในประเทศไทย และทั่วโลก และเพื่อเป็นพุทธานุสรณ์สถานเจดีย์ธรรมจักรวงเวียนเหมือนดาวเสาร์ ที่ยิ่งใหญ่
ด้านสถาปัตยกรรม และอารยสถาปัตย์ ตลอดจนเป็นการพัฒนา ด้านศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยฐานองค์เจดีย์ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 79 เมตร สูง 119 เมตร มีสระบัวรอบองค์เจดีย์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 140 เมตร ในแต่ละชั้น มีสะพานเชื่อมต่อกับอาคาร 8 เส้นทาง เป็นก้านธรรมจักรทุกชั้น บนธรรมจักรทุกวงสามารถเดินจงกรมได้ ชั้นล่างระหว่างซี่ธรรมจักร เป็นสระบัวสี่เหล่า ภายในเจดีย์บรรจุคำสอน ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะนำพุทธศาสนิกชนไปสู่ความดับทุกข์ ตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 และปฏิจจสมุปบาท
องค์เจดีย์ แบ่งเป็น 5 ชั้น ชั้นที่ 1 ชั้นปุถุชนที่มีสัมมาทิฏฐิ ชั้นที่ 2 ชั้น โสดาปัตติมรรค ชั้นที่ 3 ชั้น สกิทาคามีมรรค ชั้นที่ 4 ชั้น อนาคามีมรรค ชั้นที่ 5 ชั้น อรหันตมรรค ส่วนยอดเจดีย์ คือ พระนิพพาน ที่ออกแบบโดย พระครูใบฎีกาอำนาจ โอภาโส มูลนิธิปฏิจจสมุปบาท เป็นผู้ออกแบบพระมหาเจดีย์มรรคญาณ พุทธมณฑลจังหวัดเพชรบูรณ์
โดยงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด รวมทั้งปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ประมาณ 780 ล้านบาท และได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 62 มีสมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ในขณะนั้น ประธานพิธีฝ่ายฆราวาส
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับแจ้งว่าบ่ายวันพรุ่งนี้ จะให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นผู้ชี้แจง และให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการ
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (29 มี.ค.) เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้นำเสนอข่าวคณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกับจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี พิธีวางศิลาฤกษ์ สร้างพุทธมณฑลจังหวัดเพชรบูรณ์
โดยมี นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มี พระราชปริยัติบัณฑิต รองเจ้าคณะภาค 4-5 (ธ) พระศรีพัชโรดม เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ (ม) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ พุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธี