22 มกราคม 2566 สืบเนื่องจากตัวแทนชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล 10 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอติดตามความคืบหน้ากรณีแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินเกาะหลีเป๊ะ ในการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินของเอกชนทับที่ดินโรงเรียน เพื่อขอให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน และขอทราบความคืบหน้า ด้านการประสานกองทุนยุติธรรม เพื่อช่วยเหลือทางคดีให้กับชาวเกาะหลีเป๊ะ ที่ตกเป็นผู้ต้องหา จำนวน 30 ราย ได้เดินทางกลับถึงจังหวัดสตูลแล้ว ท่ามกลางความหวังว่า จะได้รับความเห็นใจและความจริงใจของภาครัฐ ในการแก้ปัญหาให้ชาวเลที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้สำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงคดีพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยมอบหมายให้พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ แก้ไขปัญหากรณีข้อพิพาท เพื่อรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สำหรับนำไปประกอบพิจารณาของคณะกรรมการ ในวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 นี้นั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งคณะทำงานให้การสนับสนุนภารกิจดังกล่าว โดยให้ พลตำรวจตรีอรุษ แสงจันทร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูลเป็นหัวหน้าคณะทำงาน พร้อมแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนชุดที่ 1 และคณะพนักงานสอบสวนชุดที่ 2 คณะผู้ช่วยพนักงานสอบสวน คณะพนักงานสืบสวน คณะทำงานฝ่ายประสานงานหน่วยเกี่ยวข้องคณะทำงานฝ่ายรวบรวมข้อมูลและรายงานผลการปฏิบัติ
โดยทันทีที่มีคำสั่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง เจ้าหน้าที่อช.ตะรุเตา ที่ดินจังหวัด ฝ่ายปกครองจังหวัดสตูล สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) พร้อมเจ้าของที่อ้างครอบครองที่ดิน และอีกหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง นำชี้จุดแนวเขตที่ดินนส.3 เลขที่ 11 ที่มีปัญหาข้อพิพาทของชาวเล บริเวณข้างโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ,ทางสาธารณะออกชายหาด, และบริเวณสุสานโต๊ะคีรี หลังอ้างว่าที่ดินเดิมมี 50 ไร่ ได้บวมเป็น 81 ไร่และบวมไปอีก 150 ไร่ จนเกิดปัญหาชาวเล ถูกแจ้งความฐานบุกรุกไม่น้อยกว่า 30 คดี เพื่อนำผลการตรวจไปเทียบเคียงในการพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาในครั้งนี้
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำอากาศยานไร้คนขับ ทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศครอบคลุมพื้นที่ทั้งเกาะหลีเป๊ะ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศในอดีตที่ผ่านมา ถึงรายละเอียดและการเปลี่ยนแปลงของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ว่ามีการขยายตัวการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตามที่มีการร้องเรียนหรือไม่
ท่ามกลางการจับตาดูขอชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ที่หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการ แก้ไขปัญหาข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล