4 ธันวาคม 2565 ที่พรรคประชาธิปัตย์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย “ดร.เอ้” ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเวทีเสวนา “ฟัง-เสียง LGBTQs หยุดเหยียด...เสริมสร้างความเท่าเทียม" โดยมี นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของพรรค แดนนี่-กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาว LGBTQ ในประเทศไทย คุณแจ๊ส สรวีย์ อดีตมิสทิฟฟานี่ 2009 ตัวแทน LGBTQ ร่วมงานเสวนาดังกล่าว และมีนายเมธวิน อังคทะวานิช อดีตผู้สมัคร ส.ก.เขตพญาไท ของพรรคดำเนินรายการ
ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนพูดคุยในเวทีเสวนาครั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะ LGBTQs ที่ไม่เท่าเทียม แต่สังคมไทยยังมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นในทุกเรื่องอาทิ คนพิการ การศึกษาของเด็กชายขอบ เป็นต้น ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องมีความเท่าเทียมกันในทุกด้านอย่างแท้จริง พร้อมชวนทุกคนร่วมกันขบคิด นำเสนอวิธีขจัดความไม่เท่าเทียมให้หมดไปเพื่อความสุขของสังคม ทั้งนี้ตนจะนำความคิดเห็น ต่างๆ จากเวทีเสวนาดังกล่าวมาสกัดเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจนบรรลุผลต่อไป
“แดนนี่ กิตตินันท์” ระบุว่า จากการที่ตนคลุกคลีและขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอดระยะเวลายาวนาน พบว่าการเหยียดเพศเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความรุนแรง ซึ่งการกระทำความรุนแรงไม่ใช่ทางกายอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงทางใจด้วย ซึ่งการกีดกันการเข้าถึงสิทธิและหน้าที่ การคุกคามทางเพศ โดยการตีตราและเลือกปฏิบัตินั้นมาจาก
1. ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ และความไม่ตระหนักรู้
2. ความเกลียดชัง ความกลัว ความวิตกกังวล
3. ค่านิยมความเชื่อ ทัศนคติ วัฒนธรรม และจารีต
4. สภาพแวดล้อมที่กำหนดเป็นกฎ ระเบียบ นโยบาย และกฎหมาย
ดังนั้นจึงต้องทำให้ทุกปัจจัยนั้นมีหนทางคลี่คลายไปได้ และต้องผลักดันทุกๆ เรื่องไปพร้อมๆกัน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ข้อใดข้อหนึ่งสำเร็จลุล่วงไปก่อน
หากสังคมไทยมีใน 4 เรื่อง คือ
1. ความเข้าใจและเปิดพื้นที่ในสังคม
2. มีความรู้เรื่องสิทธิ์ และการเข้าถึงสิทธิ์
3. การยอมรับแบบไม่มีเงื่อนไข
4. มีความเคารพซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้สังคมไทยนำไปสู่การไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ละเมิดสิทธิ์ได้ แต่เวลานี้เรายังวังวนกับข้อ 1
ดังนั้นจึงเกิดกระบวนการแก้ไขต่างๆ กันอยู่อย่างไม่สิ้นสุด ทำให้คนกลุ่ม LGBTQ ถูกกระทำความรุนแรง ตั้งแต่รูปแบบการร้ายร่างกาย การทำลายจิตใจ การกีดกันไม่ให้เข้าถึงสิทธิ และหน้าที่ รวมไปถึงการบูลลี่ และเหยียดเพศอยู่ตลอดเวลา
“ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการเหยียด และการเลือกปฏิบัติก็คือ 1. ผู้กำหนดนโยบาย 2. องค์การระหว่างประเทศ 3. ภาคประชาสังคม 4. ผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหา หากเราขยี้แต่ละอัน โดยลืมบางอัน ชาตินี้ทั้งชาติจะไม่มีวันทำอะไรเสร็จเลย ดังนั้นหลักการคิดจะมีฐานคิดง่ายๆ เท่านั้น เพียงแต่เราพยายามทำให้คนเท่ากัน เพียงข้อแรกไม่ต้องแยกเขาแยกเราเรื่องก็จบ”
ขณะที่นายแทนคุณ กล่าวว่า ความเป็นพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีความเป็นอนุรักษ์นิยม แต่ท่านหัวหน้าพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ LGBTQ+ และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ จึงมอบหมายให้ตนได้มีโอกาสทำงานเพื่อสนับสนุนในเรื่องนี้ และได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนทำหน้าที่เสมือนอิฐก้อนแรกเป็นฐานราก ให้คนที่เป็น LGBTQ ได้มายืนข้างบนตนขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งยืนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งกว้างมากขึ้นเรื่อย
นอกจากนี้การที่พรรคประชาธิปัตย์จัดโครงการ “ฟัง- คิด- ทำ” เพื่อนำมาจัดทำนโยบาย ซึ่งมีการลงพื้นที่จัดเสวนา ให้ความรู้ อีกทั้งรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ พบว่าปัญหาในสังคมไทยคือความไม่เข้าใจซึ่งนำไปสู่ความกลัว และความเกลียดชัง
ดังนั้นตนและพรรคเปิดกว้างรับฟัง ช่วยแก้ไขปัญหา อีกทั้งจะนำเอาองค์ความรู้มาสกัดเป็นนโยบาย เพื่อลดการเลือกปฏิบัติ สะท้อนมุมมอง กระตุ้นบางมิติ บางประเด็น เพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ตนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้จากกลุ่มเล็กๆ ที่เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว
ส่วน “แจ๊ส สรวีย์” กล่าวว่า จากช่วงเวลาที่ตนบวชในพุทธศาสนาร่วม 10 ปี ทำให้เห็นช่องว่างว่า ตนขาดองค์ความรู้ที่โลกได้พัฒนาไป ซึ่งในทางพุทธศาสนา ความไม่รู้ ก็คือ อวิชา และสิ่งที่จะทำให้แจ้งก็คือวิชา แต่แม้เราจะตั้งเวทีเสวนา หรือหลายๆ องค์กรที่มีบทบาทในการแก้ไขก็ยังไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เดี๋ยวนี้ แต่จะต้องใช้ระยะเวลา และองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ถือเอา อัตตาธิปไตย หรือการถือเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ เพราะอัตตาธิปไตยจะวนเวียนอยู่ในกิเลสทั้งปวง ทำให้ไม่สามารถก้าวไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและแท้จริง นอกจากนี้หากยังวนอยู่กับ “โล” หรือโลก ซึ่งเรียกว่าโลกาธิปไตย ปัญหาก็จะยังวนซ้ำอยู่อย่างนั้น ไม่หลุดออกจากหลุมดำเดิมๆ
ซึ่งการแก้ไข เปลี่ยนแปลงปัญหาเก่าที่เกิดขึ้นเพื่ออนาคตและความสุขที่จะเดินไปด้วยกันทุกเพศ ทุกวัย กับมวลมนุษยชาติในโลกใบนี้ ไม่ใช่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้ ธรรมาธิปไตย หรือใช้หลักธรรม ที่ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกองค์กร ควรถือเป็นใหญ่ ก็จะทำให้การเหยียด ความรุนแรงต่างๆ จะลดน้อยลง ซึ่งการถือครองศีล 5 นั้นแม้วันนี้ยังถือครองศีลได้ไม่ครบทั้ง 5 ข้อ แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะเป็นแนวทางพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีได้
ทั้งนี้ คุณเอื้อง ชมพูนุท นาครทรรพ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมเวทีเสวนาได้ แต่ได้แสดงความเห็นผ่านเพจ Modern BKK ว่า ต้องขอชื่นชมพรรคประชาธิปัตย์ที่จัดการเสวนาเรื่องนี้ แม้การเสวนาออกจะหนักไปทาง “G” มากกว่าตัวอักษรอื่นๆ ใน LGBTQIN+ ซึ่งน่าจะได้ข้อคิดเห็นจาก L หรือ Q เพิ่มขึ้น จึงรู้สึกเสียดายที่ตนติดภารกิจจริงๆ แต่ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งใน LGBTQI+ ที่ได้ทำงาน และมีบทบาทในการร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มาจนถึง พ.ร.บ. คู่ชีวิต จึงหวังว่าร่าง พ.ร.บ. รับรองเพศสภาพ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ พม. ที่มีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้นจะสามารถเข้าสู่การพิจารณาในสภา เพื่อบังคับใช้ได้ทันในรัฐบาลสมัยนี้