svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

วิกฤต "มาตรการภาษี" ยังไม่คลี่คลาย หลายประเทศเอาตัวรอด "ภาษีทรัมป์"

มาตรการภาษี "วันปลดแอก" ของสหรัฐฯ กระทบ "หุ้นเอเชีย" นักลงทุนเทขายต่อเนื่อง นิสสันดิ้นย้ายฐานการผลิต อิลอน มัสก์ เปิดหน้าเล่นงานสถาปนิกเศรษฐกิจทรัมป์ หล้งติดร่างแหโดนประท้วงต่อต้าน หุ้นเทสลาตก ความมั่งคั่งลดลง

ความคืบหน้ากรณี "ภาษีทรัมป์" เว็บไซท์ข่าว CNBC รายงานความเคลื่อนไหวตลาด "หุ้นเอเชีย" ที่ยังวิกฤตเพราะพิษมาตรการอัตราภาษีศุลกากร "วันปลดแอก" เปิดตลาด นักลงทุนเทขายอย่างต่อเนื่อง เพราะกังวลถึงความเสี่ยงจาก "สงครามการค้า" โดยตลาดหุ้นฮ่องกง เป็นตลาดที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในภูมิภาค ดัชนีฮั่งเส็ง (Hang Seng) ลดลง 9.56% ในการซื้อขายช่วงเช้า ส่วนดัชนีซีเอสไอ 300 (CSI 300) ของจีนแผ่นดินใหญ่ ลดลง 4.82%

ดัชนีนิคเคอิ 225 (Nikkei 225) ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 6.40% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน ในขณะที่ดัชนี โทปิกซ์ (TOPIX) ลดลง 6.62% ส่งผลให้ตลาดฟิวเจอร์สหุ้นญี่ปุ่น ถูกระงับการซื้อขายชั่วคราว ตามมาตรการหยุดการซื้อขาย ส่วนเกาหลีใต้ ดัชนีคอสปิ (Kospi) ลดลง 4.32% และดัชนีกอสแด็ก (Kosdaq) ลดลง 3.52%
วิกฤต \"มาตรการภาษี\" ยังไม่คลี่คลาย หลายประเทศเอาตัวรอด \"ภาษีทรัมป์\"

หนังสือพิมพ์นิกเคอิของญี่ปุ่น รายงานว่า นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางส่วนจากญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ โดยเร็วที่สุดช่วงฤดูร้อนนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษี และผลิตรถยนต์รุ่นที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ อยู่แล้ว คือ เอสยูวี รุ่น โร้ก (Rogue) โดยจะลดการผลิตที่โรงงานในจังหวัดฟุกุโอกะลง ขณะที่นายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ เตรียมเดินทางไปเจรจาาหาทางออกที่สหรัฐฯ โดยเป็นหนึ่งใน 50 ประเทศ ที่ทำเนียบขาวระบุว่า ติดต่อไปขอเจรจาเพื่อคลี่คลายวิกฤตภาษีศุลกากรอัตราใหม่

ในการให้สัมภาษณ์นักข่าวบนเครื่องบินประจำตำแหน่ง "แอร์ ฟอร์ซ วัน" (Air Force One) ทรัมป์บอกว่า..

"ผมบอกไม่ได้ว่าตลาดจะเกิดอะไรขึ้น แต่ผมบอกได้ว่าประเทศของเราแข็งแกร่งขึ้นมาก และในที่สุดแล้วจะกลายเป็นประเทศที่ไม่เหมือนใคร จะเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก"

และเมื่อถูกถามถึงสถานการณ์ในตลาดหุ้น เขาบอกเพียงว่า "บางครั้งคุณก็ต้องกินยา" เขายังบอกด้วยว่า "เราขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศ วิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้คือการใช้ภาษีศุลกากร ซึ่งขณะนี้กำลังนำเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่สหรัฐฯ ภาษีศุลกากรมีผลบังคับใช้แล้วและเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง การเกินดุลของประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่โจ ไบเดนซึ่งเป็น ประธานาธิบดี เราจะแก้ไขมัน และแก้ไขมันอย่างรวดเร็วสักวันหนึ่งผู้คนจะตระหนักว่าภาษีศุลกากรสำหรับสหรัฐอเมริกานั้นเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง!"

วิกฤต \"มาตรการภาษี\" ยังไม่คลี่คลาย หลายประเทศเอาตัวรอด \"ภาษีทรัมป์\"

แต่ที่ถูกจับตามอง คือ การตอบโต้ของจีนที่ไม่ต่างจาก "ช้างชนช้าง" แต่ฝั่งที่เจ็บตัวกว่าน่าจะเป็นสหรัฐฯ เอง เพราะบริษัทอเมริกันพยายามเปิดตลาดจีนที่ได้ชื่อว่า มีขนาดใหญ่ เมื่อจีนขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้สหรัฐฯ ในอัตรา 34% บ้าง ก็อาจทำให้บริษัทอเมริกันบางรายต้องรามือจากจีนไป โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ถูกจีนเรียกเก็บ 10% หรือ 15% เพื่อตอบโต้กำแพงภาษีรอบที่แล้วของทรัมป์ และตอนนี้ ถ้าเพิ่มขึ้นอีก 34% ก็ยิ่งทำให้สินค้าอเมริกันหมดหนทางอยู่ในตลาดจีนได้อีกต่อไป ตรงข้ามกับจีน ที่จะหาแหล่งซื้อสินค้า เช่น ข้าวฟ่าง หมูและไก่ ได้ไม่ยาก 

ภาษี "วันปลดแอก" (Liberation Day) ของทรัมป์ ยังส่งผลกระทบที่รุนแรงไปยังบรรดามหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก ที่มูลค่าทรัพย์สินและมูลค่าหุ้นหายวับไปหลายล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะอิลอน มัสก์ พันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของทรัมป์ ที่ไม่ได้ตำหนิทรัมป์โดยตรง แต่โยนระเบิดไปที่ "ปีเตอร์ นาวาร์โร" ที่จบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์  "มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด" (Harvard University) และได้ชื่อว่าเป็น "สถาปนิก" ที่อยู่เบื้องหลังมาตรการภาษีใหม่

โดยมัสก์ได้โพสต์บนทวิตเตอร์ถึงนาวาร์โรว่า เป็นคนที่ "ไม่มีความสามารถ" และโจมตีสถาบันอันทรงเกียรติด้วยว่า "การได้ปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั้น เป็นเรื่องที่แย่ ไม่ใช่เรื่องดี มันมีผลให้เกิดปัญหาด้านอัตราและสมอง และตอกย้ำถึงการดูถูกด้วยการแสดงความคิดเห็นว่า "ใช่" ใต้คำกล่าวของโทมัส โซเวลล์ นักเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า "ในภัยพิบัติทุกครั้งในประวัติศาสตร์อเมริกา ดูเหมือนว่าจะมีคนจากฮาร์วาร์ดอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์นั้นเสมอ"
วิกฤต \"มาตรการภาษี\" ยังไม่คลี่คลาย หลายประเทศเอาตัวรอด \"ภาษีทรัมป์\"