ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวสุนทรพจน์อำลาตำแหน่งจากห้องทำงานในทำเนียบขาว เมื่อค่ำวันพุธ ก่อนจะยุติหน้าที่ประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่โดนัลด์ ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 47 โดยใช้โอกาสสุดท้ายสะท้อนให้ชาวอเมริกันได้เห็นผลงานทั้งด้านนโยบายในประเทศและต่างประเทศในช่วง 4 ปี ก่อนต้องยอมถอนตัวจากการเลือกตั้ง และทรัมป์สามารถหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง
เขายังเตือนด้วยความกังวลอย่างยิ่งต่อรัฐบาลใหม่ว่า อำนาจมหาศาลตกอยู่ในมือของอภิมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่คน และผลลัพธ์ร้ายแรงจะตามมาหากมีการใช้อำนาจโดยมิชอบ และไม่สามารถตรวจสอบได้ มหาเศรษฐีทรงอิทธิพลกำลังครอบงำทั้งความมั่งคั่ง อำนาจ และอิทธิพลในประเทศนี้ ที่จะคุกคามต่อประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพ
ไบเดนยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความซับซ้อนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดการไหลบ่าของข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือน ที่ก่อให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบ และเสรีภาพสื่อกำลังพังทลาย
เขายังเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยุติเอกสิทธิคุ้มครองประธานาธิบดีขณะดำรงตำแหน่ง หลังจากศาลฎีกาสหรัฐฯ วินิจฉัยในปีที่แล้วว่าทรัมป์ได้รับการคุ้มครองจากการรับผิดทางอาญาเกี่ยวกับความพยายามล้มผลเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2563
ไบเดนเตรียมส่งมอบอำนาจให้ทรัมป์ในเวลา 12.00 น. ของวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นหรือ 24.00 น. ตามเวลาไทย และในรัฐบาลใหม่ของทรัมป์ มีมหาเศรษฐีพันล้านอย่างน้อย 11 คน ที่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และทรัมป์ได้เสนอชื่ออีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก, เจ้าของแพลตฟอร์ม X และซีอีโอของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ เพื่อกำกับดูแลหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับผิดชอบการตัดรายจ่ายของรัฐบาลกลางและรื้อระเบียบข้อบังคับของภาครัฐ ท่ามกลางความวิตกหลายฝ่ายเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ในเมื่อธุรกิจของเขาได้รับสัญญาสัมปทานโครงการของรัฐ นอกจากนี้มีเสียงวิจารณ์และข่าวลือด้วยว่า มัสก์เป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริง จนทรัมป์ต้องรีบออกมาตอบโต้ว่า เขาเป็นประธานาธิบดีตัวจริง
ในขณะที่ไบเดนกำลังจะพ้นตำแหน่งด้วยคะแนนนิยมที่ตกต่ำอย่างมาก โดยผลสำรวจของ CNN/SSRS ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธพบว่า มีคะแนนความพอใจด้านนโยบายผู้อพยพ 31%, นโยบายต่างประเทศ 32% และนโยบายเศรษฐกืจ 33%