เจ้าหน้าที่สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ ระบุว่า คนร้ายที่ก่อเหตุขับรถปิคอัพพุ่งชนคนที่ถนนบูร์บงในเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนาช่วงเช้ามืดวันพุธ คือ ซัมซุด-ดิน แจ็บบาร์ วัย 42 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และผู้บาดเจ็บ 35 ราย เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ในรัฐเท็กซัส และเป็นอดีตทหารผ่านศึก
สื่อรายงานด้วยว่า เขาจบการศึกษาระดับด้านระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จ สเตท และเคยทำงานหลายตำแหน่งในกองทัพ ซึ่งรวมถึงงานฝ่ายบุคคลและไอที ก่อนถูกปลด รวมถึงเคยไปประจำการในอัฟกานิสถานช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2552-2553
นายแจ็บบาร์ก่อเหตุขับรถปิคอัพพุ่งชนฝูงที่กำลังเฉลิมฉลองวันปีใหม่ภายในบริเวณเฟรนช์ ควอเตอร์ในเมืองนิวออร์ลีนส์เมื่อเวลา 03.15 น.ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนยิงปืนใส่ตำรวจ และเกิดการยิงต่อสู้กัน ทำให้เขาเสียชีวิต
เอฟบีไอกำลังสอบสวนเหตุการณ์นี้โดยเชื่อว่าเป็นการก่อการร้าย พบมีธงของกลุ่มก่อการร้ายไอเอส อาวุธ และระเบิดแสวงเครื่องในรถคันก่อเหตุที่เป็นรถเช่า เขาโพสต์วิดีโอในโซเชียลมีเดียช่วงไม่กี่ชั่วโมก่อนก่อเหตุสะเทือนขวัญ ซึ่งบ่งชี้ว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มไอเอส และมีความตั้งใจอยากฆ่าคน
เขาพูดในคลิปเกี่ยวกับการหย่าร้างของเขา และการวางแผนจัดงานรวมตัวของครอบครัวเพื่อเฉลิมฉลอง โดยมีเจตนาเพื่อฆ่าสมาชิกในครอบครัว แต่เขาก็บอกในอีกหลายคลิปว่า เขาเปลี่ยนแผนและหันไปเข้าร่วมกลุ่มไอเอส และยังอ้างถึงความฝันที่ทำให้เขาอยากเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้
อัยการรัฐลุยเซียนา เปิดเผยด้วยว่า ระเบิดแสวงเครื่องที่พบในรถของคนร้ายประกอบขึ้นที่บ้านเช่าของแอร์บีเอ็นบี ที่เขาเช่าไว้เพื่อทำสิ่งนี้โดยเฉพาะ และสมาชิกสภาเมืองนิวออร์ลีนส์ บอกด้วยว่า ผู้ก่อเหตุพักค้างที่บ้านหลังนี้ช่วงก่อนก่อเหตุ
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เชื่อว่า แจ็บบาร์ที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารไม่ได้ลงมือเพียงลำพัง และเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้ต้องสงสัยอีกหลายคน และตรวจสอบว่า มีการเช่ารถปิคอัพที่น่าสงสัยแบบเดียวกัน เพื่อใช้ในการโจมตีอีกหรือไม่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจค้นทั้งในนิวออร์ลีนส์และรัฐอื่นๆ
ขณะที่ชุดสอบสวนกำลังตรวจสอบว่า เหตุการณ์ที่นิวออร์ลีนส์เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รถไซเบอร์ทรัคของเทสลาระเบิดที่ด้านหน้าโรงแรมทรัมป์ในเมืองลาสเวกัสที่เกิดขึ้นในอีกหลายชั่วโมงต่อมาหรือไม่ เบื้องต้นพบว่า รถที่ใช้ก่อเหตุถูกเช่าจากแอปพลิเคชันรถเช่า “ทูโร” เหมือนกัน และเอฟบีไอเชื่อว่า เหตุระเบิดรถไซเบอร์ทรัคเป็นเหตุการณ์เดียว และไม่น่าจะมีอันตรายมากกว่านี้ต่อประชาชน
ผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า เหตุโจมตีที่นิวออร์ลีนส์มีลักษณะทั้งในแง่กลยุทธ์และสัญลักษณ์คล้ายกับการก่อเหตุของกลุ่มไอเอส โดยมีทั้งการขับรถชน และยิงเพื่อให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด และผู้ก่อเหตุตายท่ามกลางห่ากระสุนจากการถูกวิสามัญฆาตกรรมด้วยฝีมือตำรวจ แต่ก็เป็นความท้าทายของเอฟบีไอที่จะต้องสอบสวนว่า เหตุการณ์นี้กระทำโดยได้แรงบันดาลใจ หรือ ถูกบงการโดยกลุ่มไอเอส
ผู้เชี่ยวชาญ ระบุด้วยว่า จุดเกิดเหตุอยู่ห่างสถานที่จัดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล ระดับมหาวิทยาลัย "ชูการ์ โบวล์" ราว 1 กิโลเมตร ทำให้การแข่งขันถูกเลื่อนออกไป 24 ขั่วโมง ซึ่งสะท้อนว่า มุ่งเจตนาสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยงานชูการ์ โบวล์ และงานคาร์นิวัล มาร์ดิกราส์ ในนิวออร์ลีนส์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเกือบ 1 ล้านคนในแต่ละปี และเหตุโจมตีครั้งนี้ดูเหมือนว่ามีการวางแผนอย่างดี โดยคนร้ายสามารถขับรถเข้าไปในถนนบูร์บงได้ แสดงว่า เขารู้จักเส้นทางและรู้ว่าจะหลบเลี่ยงการรักษาความปลอดภัยอย่างไร จึงน่าจะมีการสำรวจและวางแผนไว้ล่วงหน้า