ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (1 ธันวาคม) ว่า เขาได้ลงนามคำสั่งอภัยโทษให้ฮันเตอร์ บุตรชาย แม้เคยให้คำมั่นตั้งแต่วันที่รับตำแหน่งประธานาธิบดีว่า จะไม่แทรกแซงการตัดสินใจของกระทรวงยุติธรรม และเขาก็รักษาคำพูดมาโดยตลอด แม้เห็นว่าลูกชายถูกดำเนินคดีอย่างเลือกปฏิบัติ และไม่ยุติธรรม และเมื่อมองข้อเท็จจริงในคดีของฮันเตอร์แล้ว ไม่มีคนที่มีเหตุผลคนใดจะสรุปเป็นอื่นได้ นอกจากเห็นว่า ฮันเตอร์ถูกตรวจสอบเพียงเพราะเป็นลูกชายของเขา
ฮันเตอร์ถูกตัดสินว่า มีความผิดคดีให้มูลเท็จเรื่องการใช้ยาเสพติดตอนกรอกประวัติเพื่อซื้อปืน และมีกำหนดฟังคำตัดสินลงโทษในวันที่ 4 ธันวาคม นอกจากนี้เขาถูกตัดสินว่า กระทำผิดคดีค้างชำระภาษี 1.4 ล้านดอลลาร์ และศาลนัดฟังคำตัดสินโทษในวันที่ 16 ธันวาคม ฮันเตอร์อาจเผชิญโทษจำคุกสูงสุดถึง 25 ปี คดีภาษี และอีก 17 ปี คดีปืน แต่คาดว่า เขาอาจได้รับโทษเบากว่านี้
ที่ผ่านมาทำเนียบขาว ย้ำหลายครั้งว่า ไบเดนยืนยันจะไม่อภัยโทษหรือลดหย่อนโทษให้ลูกชาย แม้เห็นว่าลูกชายตกเป็นเป้าของพรรครีพับลิกัน รวมถึงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
แต่แถลงการณ์ล่าสุดของไบเดน ระบุด้วยว่า เขาเชื่อว่า การเมืองที่ขัดแย้งส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม และหวังว่าชาวอเมริกันจะเข้าใจว่าทำไมเขาซึ่งเป็นทั้งพ่อและประธานาธิบดีตัดสินใจอภัยโทษให้ลูกชาย
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของประธานาธิบดีที่กำลังจะพ้นตำแหน่งย่อมจุดประเด็นโต้เถียงเกี่ยวกับความอิสระของระบบยุติธรรมในสหรัฐฯ ที่ถูกจับจ้องท่ามกลางคำเตือนของนักวิจารณ์ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี เตรียมใช้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ที่เต็มไปด้วยผู้ภักดี เพื่อพุ่งเป้าเล่นงานศัตรูทางการเมือง
ทรัมป์โพสต์ในแพลตฟอร์ม ทรูธ โซเชียล ของเขาทันทีว่า การอภัยโทษฮันเตอร์เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ
แต่ที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐฯ บางคนก็ใช้อำนาจอภัยโทษสมาชิกในครอบครัวและพันธมิตรทางการเมือง เช่น ทรัมป์อภัยโทษให้ชาร์ลส์ คุชเนอร์ พ่อของจาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของเขา หลังชาร์ลส์ต้องโทษจำคุกคดีเลี่ยงภาษี เงินหาเสียงผิดกฎหมาย และยุ่งเหยิงกับพยาน และบิล คลินตัน อภัยโทษให้โรเจอร์ คลินตัน จูเนียร์ น้องชายต่างมารดา ที่ต้องโทษคดียาเสพติด