มหานครอินชอน ร่วมกับสื่อมวลชน สถาบันการศึกษา และนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุม “2024 Incheon International Media” ที่โรงแรมคยังวอนแจ แอมบาสเดอร์ โฮเทล เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อระดมความคิดเห็นและเตรียมความพร้อมสู่เป้าหมาย “ปีแห่งการแลกเปลี่ยน และการกลับมาเยือนสาธารณรัฐเกาหลี” ในปี 2568-2569 (ค.ศ.2025-2026) ในการพาอินชอนให้เป็นเมือง Diaspora ของชาวเกาหลีโพ้นทะเลได้สำเร็จ ทั้งการเตรียมตัวของเมือง และประชากร, บทบาทของสื่อมวลชน, การสร้างความตระหนักรู้ให้กับพลเมืองเกี่ยวกับชาวเกาหลีโพ้นทะเล และความร่วมมือในการพาอินชอนสู่ 1 ใน 10 เมืองระดับโลก
ยู จองบก นายกเทศมนตรีนครอินชอน
ยู จองบก นายกเทศมนตรีนครอินชอน ระบุว่า อินชอน เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์เกาหลี และการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวเกาหลีเริ่มต้นที่เมืองอินชอน เมื่อราว 120 ปีที่แล้ว ชาวเกาหลีหลายคน โยกย้ายถิ่นฐานไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย และได้สร้างครอบครัวในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และในวันนี้ อินชอน กำลังจะประกาศตัวเองให้เป็นเมืองนานาชาติที่ดีที่สุดในเกาหลี โดยเฉพาะในปี 2025-2026 ที่อินชอน กำหนดให้เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยน และการมาเยือนของชาวเกาหลีโพ้นทะเล และสร้างอินชอน ให้เป็นเมืองบ้านเกิดในดวงใจของชาวเกาหลีโพ้นทะเล โดยมีสื่อมวลชน ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมชาวเกาหลีที่กระจายอยู่ทั่วโลก เพื่อเชื่อมโยงกับมาตุภูมิบ้านเกิดเมื่อ 120 ปีที่แล้วในอินชอน
Diaspora คืออะไร และ ชาวเกาหลีพลัดถิ่น คืออะไร?
Diaspora หรือ ผู้พลัดถิ่น หลายคนมักนึกถึงว่า เป็นบุคคลที่ย้ายไปประเทศอื่น แต่การก่อตัวของ Diaspora นั้น ต้องใช้เวลานาน และต้องใช้หลายรุ่นคนในการเป็นDiaspora หรืออธิบายให้ง่าย ก็คือ “เราเกิดที่ไหน แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ เราต้องใช้ชีวิตที่นี่ให้ดี และเราจะพบกับคนอื่น ๆ ที่นี่”
ชาวเกาหลีพลัดถิ่น หรือ ชาวเกาหลีโพ้นทะเล หรือ Diaspora ในที่นี้นั้น การใช้คำว่า “ชาวพลัดถิ่น” ในความหมายทั่วไป หมายถึง ชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ
การมีชาวเกาหลีในต่างประเทศ จำนวนกว่า 7,000,000 – 8,000,000 คนนั้น หมายถึงชาวเกาหลี ที่เลือกที่จะตั้งถิ่นฐาน และใช้ชีวิตในประเทศนั้น ๆ ด้วยความสมัครใจ
ประวัติการพลัดถิ่นของชาวเกาหลี
ความเคลื่อนไหวการพลัดถิ่นของชาวเกาหลี เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1902-1903 หรือ พ.ศ.2445-2446 จากแรงงานชาวเกาหลี จำนวนราว 100 กว่าคน ที่ย้ายไปฮาวาย สหรัฐอเมริกาจากท่าเรืออินชอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพลัดถิ่น หลังจากนั้น จนถึงปี 1905 มีชาวเกาหลีกว่า 7,400 คน ได้เดินทางไปฮาวาย ก่อนที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน มีชาวเกาหลีพลัดถิ่นอยู่ทั่วโลก และอยู่ในลำดับที่ 5 ของโลก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการพลัดถิ่นของจำนวนประชากรแล้ว เกาหลีอยู่ในลำดับที่ 3
สาเหตุที่การพลัดถิ่นเริ่มต้นจากท่าเรืออินชอน เพราะอินชอนในขณะนั้น เป็นเมืองท่า มีการเปิดการค้า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1883 และเป็นท่าเรือเดียว ที่สามารถเชื่อมกับโลกภายนอกได้ ซึ่งหลังจากนั้น อินชอนเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามา และเริ่มพัฒนาเป็นเมืองนานาชาติที่มีความหลากหลาย
ในอดีตการพลัดถิ่นของชาวเกาหลี เริ่มจากการหนีความยากจน และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การบังคับให้คนไปทำงานต่างประเทศก็มีมากขึ้น และตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 จนถึงปัจจุบัน ผู้โยกย้ายถิ่นฐานส่วนใหญ่ ก็เกี่ยวข้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และยังคงมีจำนวนผู้โยกย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลในปี 2023 พบว่า มีชาวเกาหลีที่โยกย้ายถิ่นฐานไปทั่วโลกกว่า 7,300,000 คน โดยสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีชาวเกาหลีโพ้นทะเลมาที่สุดราว 2,600,000 คน และรองลงมาเป็นประเทศจีน, ญี่ปุ่น, แคนาดา และอุซเบกิสถาน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก 193 ประเทศ และไม่ว่าชาวเกาหลี จะไปที่ใดก็จะมีชุมชนชาวเกาหลีเกิดขึ้น หรือ โคเรียทาวน์ เหมือนไชน่าทาวน์ในหลายประเทศ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีได้จัดตั้งสำนักงานกิจการชาวเกาหลีพลัดถิ่นในอินชอน และมีองค์กรสนับสนุนภายใต้กระทรวงการต่างประเทศเกาหลี ซึ่งแม้รัฐบาลจะให้วามสำคัญ แต่การตระหนักรู้ และความสนใจเรื่องดังกล่าวในเกาหลี ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก
ทำไมต้องสนับสนุนชาวเกาหลีโพ้นทะเล?
การเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติ ทำให้การอพยพย้ายถิ่นของครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการอพยพย้ายถิ่นในปัจจุบันนั้น ไม่ใช่ชั่วคราว และมีแนวโน้มที่จะตั้งถิ่นฐานมากขึ้น
สำหรับเหตุผลที่ต้องสนับสนุนชาวเกาหลีโพ้นทะเลนั้น มีหลายเหตุผล อาทิ การรักษาอัตลักษณ์ของชาติ และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นต่าง ๆ รวมถึงชาวเกาหลีโพ้นทะเล ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นเครือข่ายดึงดูดการลงทุน และสร้างผลประเทศทางเศรษฐกิจให้กับเกาหลีได้ รวมถึงยังเป็นการแสดงถึงความสำคัญในความทุ่มเท และความเสียสละของผู้พลัดถิ่น ที่ได้มีส่วนช่วยพัฒนาเกาหลี และขยายอิทธิพลของประเทศ
นอกจากนั้น การอพยพย้ายถิ่นในปัจจุบัน มีความเชื่อมโยง และมีผลกระทบที่แตกต่างจากอดีต เพราะผู้อพยพย้ายถิ่นในปัจจุบัน มุ่งหน้าไปกลุ่มประเทศ OECD หรือ Organisation for Economic Co-operation and Development: องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และยอมรับระบอบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจการค้าเสรีในการร่วมกันและพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรป และโลก
ขณะเดียวกัน เกาหลีในปัจจุบัน ถือเป็นประเทศที่มีบทบาททางเศรษฐกิจในระดับโลก หรือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ด้วยจำนวนเศรษฐกิจมหาศาล ประชากรมีการศึกษาสูง และมีศักยภาพในการก้าวขึ้นสูงผู้นำโลก ไม่เพียงแค่เอเชียตะวันออกเท่านั้น แต่เกาหลีใต้กลับเผชิญกับปัญหาประชากรลดลง เนื่องจาก มีอัตราการเกิดของประชากรใหม่ที่ต่ำ จึงจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงมุมมองของพลเมือง
ทำไมต้องเป็นเมืองอินชอน ?
ปัจจุบันอินชอน เป็นเมืองหนึ่งในเกาหลีใต้ ที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่มากที่สุด โดยมีจำนวนประชากรชาวต่างชาติประมาณ 5% หรือราว 2,600,000 คน ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศเกาหลีใต้ที่ 4.4% และจำนวนดังกล่าว ก็จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ปัจจุบันยังมีองค์กรระหว่างประเทศกว่า 15 องค์กร ที่ตั้งอยู่ในเมืองอินชอน
ขณะเดียวกัน อินชอน ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 70,000 ล้านวอน หรือราว 1,730 ล้านบาท ในการสร้าง และพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับชาวเกาหลีโพ้นทะเล ทั้งศูนย์ต้อนรับ, ศูนย์ธุรกิจ และเขตเศรษฐกิจเสรี เพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่าย Diaspora เกาหลีทั่วโลก
ดังนั้น “อินชอน” ในฐานะเมืองท่าที่มีความทันสมัย และมีมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงสามารถส่งเสริมให้ “อินชอน” สามารถเป็นเมือง “Diaspora” ได้
ข้อเสนอถึงอินชอนในการเตรียมความพร้อมเป็นเมือง “Diaspora”
วิทยากรในการประชุม ได้เสนอว่า จะต้องมีการจัดทำนโยบายที่ตรงกับความต้องการของชาวเกาหลีโพ้นทะเล และเกาหลีจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงสังคมหลากด้าน ทั้งการบริหารจัดการการเข้าเมือง นโยบายแรงงาน ที่แยกชาวเกาหลีโพ้นทะเล ออกจากแรงงานต่างชาติทั่วไป รวมถึงการเตรียมความพร้อมในนโยบายให้สอดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ตรงกับความต้องการของชาวเกาหลีโพ้นทะเล และการปรับแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งแม้กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลี ได้ดำเนินการมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุม ดังนั้น จึงอาจมีการตั้งคณะกรรมการด้านนโยบายขึ้นมา เพื่อติดตามเรื่องดังกล่าวนี้ และการจัดตั้งหน่วยงานการจัดการการอพยพ หรือ Immigration Agency ก็ถือเป็นทางเลือกในการดำเนินการได้
เป้าหมายการพาอินชอนสู่การเป็น 1 ใน 10 เมืองชั้นนำของโลก
อินชอนมีสำนักงานชาวเกาหลีในต่างประเทศ (โพ้นทะเล) และเมื่อมีสำนักงานฯ ดังกล่าวขึ้น อินชอนยังได้สร้างหน่วยงานใหม่ ๆ ในการดูแลชาวเกาหลีโพ้นทะเล โดยได้รับการยกระดับเป็น “กรม”
นอกจากนั้น อินชอน ยังได้มีการออกกฎหมายใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างพื้นฐานการเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับชาวเกาหลีโพ้นทะเลกว่า 7,000,000 คน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดทิศทางความร่วมมือกับชาวเกาหลีโพ้นทะเล ในการพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสนับสนุน และร่วมมือกับชาวเกาหลีโพ้นทะเล โดยมีรองนายกเทศมนตรีนครอินชอน เป็นประธาน พร้อมกับหน่วยงาน และผู้แทนองค์กรต่าง ๆ ของชาวเกาหลีโพ้นทะเลที่สำคัญ ๆ ในต่างประเทศ
มหานครอินชอน ยังได้เริ่มติดต่อกับเครือข่ายชาวเกาหลีโพ้นทะเล เพื่อสร้างความร่วมมือ และยังสร้างสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ กับธุรกิจเกาหลีในต่างประเทศ เช่น ธุรกิจเกาหลีในอเมริกา และสมาคมการค้าชาวเกาหลีทั่วโลก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยังมีโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์กับชาวเกาหลีรุ่นใหม่ เพื่อจัดโครงการศึกษาต่อสำหรับชาวเกาหลีรุ่นใหม่ในปี 2024 เพื่อสร้างความรู้สึกผูกโยงกับมาตุภูมิ
ขณะเดียวกัน อินชอน ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับโลก โดยมีความร่วมมือกับชาวเกาหลีโพ้นทะเล ในการสร้างเครือข่าย และดึงดูดการลงทุน ในปี 2025-2026 นี้ อินชอน ยังจะดำเนินโครงการ “ปีแห่งการเยี่ยมชมของชาวเกาหลีในอินชอน” เพื่อส่งเสริมการเยี่ยมชมเมืองอินชอน และท้ายที่สุด อินชอน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมธุรกิจเกาหลีทั่วโลก ในเดือนตุลาคม ปี 2025
หลาย ๆ การดำเนินการของฝ่ายความร่วมมือ กับชาวต่างประเทศของเมืองอินชอน ได้ดำเนินการกว่าปีครึ่งแล้ว แม้ว่าจะมีความท้าทายหลายประการ แต่เมืองอินชอน ก็กำลังหาทางทำให้เมืองอินชอน มีบทบาทที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการสนับสนุนชาวเกาหลีในต่างประเทศ หรือชาวเกาหลีโพ้นทะเล
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้สถานีโทรทัศน์เนชั่น ทีวี ได้รับเชิญให้ส่งผู้แทนสื่อมวลชนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ นายคัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เนชั่น ทีวี
คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์เนชั่น ทีวี
คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์
รายงานจาก.. มหานครอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี