หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศของบังกลาเทศ เปิดเผยในวันจันทร์ว่า ผู้ต้องหา 13 ราย ซึ่งรวมถึงอดีตรัฐมนตรี 11 ราย, ผู้พิพากษา และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถูกนำตัวขึ้นศาล และตั้งข้อหาฐานสมคบกันกระทำการที่เอื้อให้มีการสังหารหมู่ จากการร่วมวางแผน, ปลุกระดมก่อความรุนแรง, สั่งการให้เจ้าหน้าที่ยิงผู้ประท้วงได้ และขัดขวางความพยายามป้องกันการฆ่าล้าง จากเหตุการณ์ใช้กำลังสลายการประท้วงที่นำโดยนักศึกษา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 ราย ในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ และศาลมีคำสั่งฝากขังทั้ง 13 คน ระหว่างการสอบสวน
การประท้วงเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกระบบโควตาตำแหน่งงานในภาครัฐ และแม้สามารถผลักดันได้สำเร็จ แต่การประท้วงลุกลามกลายเป็นการขับไล่นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา และสามารถกดดันให้เธอหนีออกนอกประเทศไปอินเดียในวันที่ 5 สิงหาคม ส่วนพันธมิตรหลายสิบคนของเธอถูกควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับการใช้กำลังรุนแรงสลายผู้ประท้วง
ฮาสินามีกำหนดขึ้นศาลในกรุงธากาในวันจันทร์ เพื่อรับทราบข้อหาสังหารหมู่, ฆาตกรรม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่เธอเป็นผู้ต้องหาที่หนีไปต่างประเทศ และอัยการได้ยื่นคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอินเดียอีกครั้ง
ขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศให้เวลา 1 เดือน จนถึงวันที่ 17 ธันวาคม ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวนฮาสินาและคนใกล้ชิดให้แล้วเสร็จ หลังจากเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ศาลอนุมัติหมายจับฮาสินาและอีก 45 คน ซึ่งรวมถึง อดีตรัมนตรี ที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือน
หัวหน้าอัยการได้ขอความช่วยเหลือจากตำรวจสากลให้ออกหมายจับเธอ และแม้อินเดียเป็นสมาชิกตำรวจสากล แต่ไม่อาจบังคับให้อินเดียต้องส่งมอบตัวเธอ เพราะแต่ละประเทศจะดำเนินตามกฎหมายของตัวเองว่าควรจะดำเนินการจับกุมหรือไม่
ด้านมูฮัมหมัด ยูนุส ผู้นำรัฐบาลชั่วคราว และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แถลงทางโทรทัศน์เมื่อวันอาทิตย์ในโอกาสครบรอบ 100 วันของการดำรงตำแหน่ง โดยให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะนำตัวผู้รับผิดชอบต่อการนองเลือด ซึ่งรวมถึง นางฮาสินา เข้ารับการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้ และจะร้องขอการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อให้อินเดียส่งตัวฮาสินากลับประเทศ
ขณะเดียวกันเขาบอกด้วยว่า รัฐบาลมีภารกิจสำคัญที่สุด คือ การจัดเลือกตั้งใหม่เพื่อส่งมอบอำนาจให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และให้คำมั่นว่า จะดำเนินการปฏิรูปในหลายภาคส่วน รวมถึง ระบบการเลือกตั้ง และเมื่อการปฏิรูการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ก็จะมีการเปิดเผยโรดแมปสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่
ตลอดระยะเวลาเกือบ 16 ปี ที่บังกลาเทศอยู่ภายใต้การบริหารของชีค ฮาสินา มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมถึง การกักขังและการวิสามัญฆาตกรรมฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง