หน่วยเลือกตั้งเกือบ 45,000 แห่งทั่วญี่ปุ่นเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ช่วงเช้าวันอาทิตย์ (27 ตุลาคม) เพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 465 ที่นั่ง ขณะที่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งรวม 1,344 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 314 คน ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าจะทราบผลได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังหน่วยเลือกตั้งปิดลงคะแนนในเวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น
การเลือกตั้งจัดขึ้นหลังนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม เพียง 8 วัน หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยหวังขอฉันทามติต่อรัฐบาลชุดใหม่ และฟื้นคืนความศรัทธาจากประชาชน รวมทั้งผลักดันนโยบายสำคัญ
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเหมือนการลงประชามติต่อรัฐบาลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาเรื่องการระดมเงินสนับสนุนทางการเมืองที่อื้อฉาวภายในพรรค สภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองและเงินเฟ้อพุ่งสูง
ปัจจุบันรัฐบาลผสมภายใต้การนำของแอลดีพีและพรรคโคเมโตะ ครองเสียงข้างมากที่ 279 ที่นั่ง โดยแอลดีพี มี สส. 247 ที่นั่ง และพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น หรือ ซีดีพีเจ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุด มี 98 ที่นั่ง
พรรครัฐบาลตั้งเป้าว่า จะสามารถครองเสียงในสภาได้เท่าเดิม หรือ อย่างน้อยได้ 233 ที่นั่งที่เป็นเกณฑ์เสียงข้างมาก แต่เพื่อเป้าหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีเสียงข้างมากถึง 2 ใน 3 หรือ 310 ที่นั่ง ซึ่งอาจเป็นไปได้ยาก
ขณะที่พรรคซีดีพีเจ ตั้งเป้าหยุดยั้งการครองอำนาจยาวนานของพรรคแอลดีพี และโจมตีว่า การจัดเลือกตั้งเร็วขึ้นก่อนกำหนดมีเป้าหมายเพียงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากเรื่องอื้อฉาว และฉวยโอกาสที่พรรคแอลดีพีมีคะแนนนิยมดีขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคเมื่อปลายเดือนกันยายน
แต่ผลสำรวจหลายสำนักเมื่อเร็ว ๆ นี้ บ่งชี้ว่า พรรคแอลดีพีอาจสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังคะแนนนิยมของพรรคลดลงต่อเนื่องนับจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และพรรคแอลดีพีอาจเสีย 50 ที่นั่ง และโคเมโตะ อาจมีที่นั่งเหลือเพียง 30 ที่นั่ง ซึ่งจะทำให้ต่ำกว่าเกณฑ์เสียงข้างมาก
และนักวิเคราะห์ คาดว่า อิชิบะจะเผชิญความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล ที่จำเป็นต้องหาพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่ม และนักวิเคราะห์มองว่า เขามี 3 ทางเลือก คือ ชักชวนพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วมรัฐบาล หรือทำข้อตกลงเพื่อขอเสียงสนับสนุนนโยบายจากพรรคนอกรัฐบาลผสม หรือ อาศัยเสียงจากผู้สมัครอิสระที่ได้รับเลือกตั้ง
แต่หากไม่มีทางเลือกใดเป็นจริงได้ จะทำให้สถานะของอิชิบะในฐานะหัวหน้าพรรคง่อนแง่น จนอาจเจอสมาชิกพรรคบีบให้เขาต้องพ้นจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค และเผชิญอุปสรรคในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล
ขณะนี้มีกระแสคาดการณ์มากยิ่งขึ้นว่า อิชิบะอาจกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคหลังสงครามของญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้นารุฮิโกะ ฮิงาชิกูนิ เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดเพียง 54 วัน ในปี 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง