มีรายงานว่าที่ปรึกษาระดับสูง รัฐมนตรีช่วย 4 คน และผู้ว่าการ 5 แคว้นถูกปลดหรือลาออกจากตำแหน่งในวันอังคาร ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนในเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว หลังจากมีคดีอื้อฉาวเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงสงคราม
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประกาศเมื่อค่ำวันจันทร์ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลเดินทางออกนอกประเทศด้วยเหตุผลอื่นใดที่ไม่ใช่งานราชการ และบอกว่า จะมีการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่บางคนในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า
การประกาศของผู้นำยูเครนมีขึ้นหลังการจับกุมวาซิล โลซินสกี รักษาการรัฐมนตรีพัฒนาภูมิภาคเมื่อวันอาทิตย์ สำนักงานปราบปรามทุจริตแห่งชาติยูเครน กล่าวหาว่า เขารับเงิน 400,000 ดอลลาร์ ที่เป็นผลประโยชน์อย่างผิดกฎหมายแลกการอนุมัติสัญญาสัมปทาน ซึ่งรวมถึง การจัดซื้อเครื่องปั่นไฟ ที่เป็นสิ่งของจำเป็นในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับฤดูหนาว และไฟดับบ่อยครั้งที่เป็นผลมาจากการโจมตีของรัสเซียทำลายโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า สำนักงานยังตรวจสอบรายงานข่าวเกี่ยวข้อกล่าวหาที่กระทรวงกลาโหมจัดซื้อเสบียงของกองทัพในราคารสูงเกินจริง
คิริโล ติโมเชนโก รองหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบประธานาธิบดี เป็นคนแรกที่ประกาศลาออกผ่านบัญชีผู้ใช้เทเลแกรมของตัวเองในเช้าวันอังคาร หลังจากสื่อยูเครนรายงานว่า เขาใช้ยานพาหนะสำหรับกิจการบรรเทาทุกข์และการอพยพไปใช้ทำธุระอื่น แต่เขาไม่ระบุสาเหตุของการลาออก
และเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังติโมเชนโกประกาศลาออก เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคนประกาศลาออกเช่นเดียวกัน รวมถึง วยาเชสลาฟ ชาโปวาลอฟ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับผิดชอบการจัดซื้อเสบียงและอาหารสำหรับทหาร และ โอเลกซี ซิโมเนนโก รองอัยการสูงสุด ส่วนผู้ว่าการของแคว้นที่เป็นสนามรบสำคัญ 5 แห่งถูกปลด ได้แก่ แคว้น เคียฟ, ซูมี, ดนีโปรเปตทรอฟสก์, เคียร์ซอน และซาปอริซเซีย
ยูเครนมีประวัติคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมถึงในระดับผู้นำทางการเมือง รายงานชององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติในปี 2564 ระบุว่า ยูเครนเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชันมากเป็นอันดับที่ 2 ในยุโรปรองจากรัสเซีย และอันดับที่ 122 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก การขจัดคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในสัญญาหาเสียงที่ทำให้เซเลนสกีได้รับเลือกตั้งในปี 2562 และการปราบปรามคอร์รัปชันยังเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับยูเครนที่อยากเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในอนาคตอีกด้วย