พรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษเดินหน้าสรรหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ทันทีแล้ว หลังจาก ลิซ ทรัสส์ แถลงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันพฤหัสบดี ท่ามกลางความแตกแยกที่ร้าวลึกภายในพรรค และความสิ้นหวังของประชาชน ที่ยังไม่อาจหลุดพ้นจากวังวนวิกฤตการเมือง ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจกำลังรุมเร้า และนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นคนที่ 5 ของอังกฤษในระยะเวลาเพียง 6 ปี
ภายใต้ข้อบังคับที่พรรคประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีเพื่อให้การสรรหารวดเร็วขึ้น ผู้สมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค 100 เสียง จึงจะสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้ ซึ่งจะจำกัดให้มีผู้สมัครได้สูงสุดเพียง 3 คน และมีการโหวต 2 รอบโดย ส.ส.ของพรรค จนรอบสุดท้ายเปิดให้สมาชิกพรรคโหวตออนไลน์ในวันศุกร์ที่ 28 ต.ค.
แต่มีโอกาสที่จะได้ทราบชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเร็วในการโหวตรอบแรกในจันทร์ที่ 24 ต.ค. ได้ เพราะเมื่อผู้สมัครถูกคัดออก 1 คน ผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 2 อาจเจอแรงกดดันอย่างมากให้ถอนตัว เพื่อเลี่ยงการโหวตรอบสุดท้าย อย่างที่สมาชิกพรรคโหวตเลือกให้ทรัสส์เป็นผู้ชนะในครั้งที่แล้ว ในตอนนั้น ส.ส. พรรคส่วนใหญ่ไม่อยากให้ทรัสส์ชนะ แต่นโยบายลดภาษีของเธอชนะใจสมาชิกพรรคที่เป็นประชาชนรากหญ้า
ขณะนี้ยังไม่มีใครประกาศตัวเป็นผู้สมัคร แต่สื่อคาดหมายว่า การแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการชิงชัยระหว่าง ริชี ซูนัก อดีตรัฐมนตรีคลัง ที่พ่ายแพ้ให้ทรัสส์ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรครอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 ก.ย. เพนนี มอร์ดอนต์ ที่ได้คะแนนอันดับ 3 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น และบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ค. หลังเจอแรงกดดันจากรัฐมนตรีหลายสิบคนทยอยลาออก แต่เจเรมี ฮันต์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากทรัสส์ให้เป็นรัฐมนตรีคลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยืนยัน ไม่ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคแรงานเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ที่เดิมกำหนดจะจัดขึ้นในปี 2567 และหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่บางฉบับพาดหัวเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเดี๋ยวนี้ แต่ก็อาจเป็นไปได้ยากที่พรรคอนุรักษ์นิยมจะยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเร็วขึ้นในเวลานี้ เพราะส.ส.พรรคจำนวนมาก เชื่อว่า พรรคจะไม่สามารถคว้าชัยชนะได้ ในเมื่อพรรคแรงงานมีคะแนนนิยมนำแบบทิ้งห่าง
ส่วนการลาออกของทรัสส์ หลังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 44 วันไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย เพราะเธอเผชิญปัญหาที่รุมเร้าอย่างหนัก โดยแรงกดดันสำคัญมาจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า “งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ” มูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะมีทั้งการลดภาษีและการเพิ่มรายจ่าย โดยไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า จะนำเงินจากไหนมาสนับสนุน ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพุ่ง ราคาพันธบัตรรัฐบาลทรุดหนัก จนธนาคารกลางต้องเข้าแทรกแซง
จุดเปลี่ยนยังอยู่ที่เธอปลดกวาซี กวาร์เทง รัฐมนตรีคลัง ซึ่งเป็นคนสนิทของทรัสส์ หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 38 วัน และตั้งเจเรมี ฮันต์ ขึ้นมาแทน การเข้ามาของฮันต์พร้อมกับการประกาศล้มแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัสส์ ที่แม้สร้างความยินดีให้นักลงทุน แต่ก็ถือเป็นการ “ฉีก” นโยบายเศรษฐกิจของทรัสส์ทิ้ง จุดกระแสเรียกร้องมากขึ้นให้เธอลาออก
นอกจากนี้ทรัสส์ยังเจอปัญหารุมเร้าภายในพรรค เมื่อ ส.ส. 40 คน ทำตัวเป็นปฎิปักษ์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลงมติในสภาเมื่อวันที่ 19 ต.ค. เกี่ยวกับแผนของรัฐบาลที่จะกลับมาอนุญาตให้ใช้เทคนิค “แฟรกกิ้ง” (Fracking) ในการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมในชั้นหินดินดาน ซึ่งถูกมองว่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลงมติครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นเหมือนการรลงมติไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาล และแม้รัฐบาลชนะด้วยมติ 326 เสียงต่อ 230 เสียง แต่ ส.ส. 40 คน ของพรรคอนุรักษ์นิยมงดออกเสียง
และไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องฝ่าความท้าทายกระแสเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ และหาทางเรียกคืนความเชื่อมั่นจากประชาชน ที่มุ่งให้ความสำคัญกับวิกฤติค่าครองชีพและค่าพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในฤดูหนาวนี้