...
ถึงเพื่อนๆ
เมื่อเช้านี้ สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล วงโฮป ได้เสียชีวิตโดยสงบที่บ้านพัก
ครอบครัวจึงขอเรียนมายังทุกท่านให้ทราบ
สำหรับพิธีศพ จัดที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
ตั้งแต่วันที่ 16 พค. 66 เวลาประมาน 18.00 น. ศาลา 6
*ไม่มีรดน้ำศพค่ะ*
วงการเพลงเพื่อชีวิตแห่อาลัย "สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล" สุเทพวงโฮป ถึงแก่กรรมที่บ้านพัก ในวัย 74 ปี สำหรับพิธีศพจัดที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน วันที่ 16 พ.ค. 2566
วงโฮป หรือ วงโฮป แฟมิลี่ เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิต ก่อตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา(คม) 2516 โดย สุเทพและ บุษปรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล และน้องชายคนเล็กของบุษปรัชต์ ซึ่งป่วยเป็นโปลิโอ มีแนวคิด ใช้บทเพลงเป็นสื่อสร้างความดีและสร้างประโยชน์แก่สังคม
โฮป ในความหมายของสุเทพ คือความหวังที่อยากจะเห็นอาชีพนักดนตรี เป็นที่ยอมรับของสังคม ส่วนโฮปในความหมายของบุษปรัชต์ คือความหวังที่อยากจะเห็นสังคมดีขึ้น
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์แทนความทรงจำ สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล วงโฮป
วงโฮป หรือ วงโฮป แฟมิลี่ วางอิฐก้อนแรก ก่อตั้งวง จากสองสามีภรรยา สุเทพ และ บุษปรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล ช่วงปี พ.ศ. 2516 ทำเพลงแนวปลุกความหวังและให้กำลังใจ ก่อนจะเพิ่มสมาชิกอีก 2 คน ใกล้ตัว ลูกโซ่ กับ ลูกศร 2 ทายาทสาวมากความสามารถในสายเลือด
สุเทพ ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวของคนจีนแต้จิ๋ว ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาได้ใกล้ชิดลูกทั้ง 7 คนมากนัก แต่การที่ได้เห็นท่านทั้งสองทำงานอย่างหนัก เพื่อหวังให้ครอบครัวเป็นปึกแผ่น สิ่งนั้นทำให้เขาสัมผัสถึงความรักและความใส่ใจได้เช่นกัน
“คุณพ่อมาจากเมืองจีน อพยพชีวิตข้ามน้ำข้ามทะเลมา ชีวิตต้องระหกระเหิน เร่ร่อน เป็นความหวังของคุณพ่อที่เมื่อมีครอบครัวก็จะอยากจะมีครอบครัวที่มั่นคง เมื่อมีเวลามีโอกาสที่จะไปดูหนัง ไปกินข้าวด้วยกัน หรือไปในที่ที่อยากจะไป คุณพ่อก็จะพาครอบครัวไปด้วยกันทั้งหมด”
ชีวิตในครอบครัวค้าขาย ที่เห็นคุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง ได้ปลูกฝังเรื่องของการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นให้กับเขาด้วย
“พ่อจะพูดเสมอว่า จะซื้ออะไรให้คิด และเราก็ซึมเข้าไปโดยที่เราก็ไม่รู้ตัว ทุก วันนี้ ประโยคนี้เราก็ใช้กับลูกว่า เวลาจะซื้ออะไรให้คิด และจะต้องคิดด้วยว่าเรา ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งของที่เราซื้อ คุ้มค่าหรือเปล่า มาวันนี้ เรามีห้องบันทึกเสียงเล็กๆ เป็น ของเราเอง เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าเราจะพัฒนาห้องอัดของเรา จะซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ ซื้อไมโครโฟน ซื้อวินแอมป์สักตัว เราจะต้องคิดล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าเราซื้อมาแล้ว มันจะคุ้มไหม และมันจะมีอายุยืนยาวไปจนเราสามารถทำอะไรได้เพิ่มขึ้นไหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมได้รับการปลูกฝังมาจากการที่ผมเคยได้ยินพ่อพูดตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย”
ขณะที่ พี่แดง หรือ ‘บุษปรัชต์’ แม้เธอจะเกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างสุขสบาย มีคุณพ่อคุณแม่เป็นนักการทูตที่รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ และเคยได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากผู้เป็นป้า คือ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม (ภริยาจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่ในเรื่องของความเมตตาที่ควรมีต่อผู้ที่ด้อยกว่า เธอได้รับการซึมซับมาจากครอบครัวของเธอไม่น้อย
“คุณแม่จะเป็นคนที่มีเมตตาสูงมาก อย่างประตูบ้านคุณแม่ก็จะไม่ปิด เพราะคุณแม่บอกว่า แม่มีลูก 5 คน ลูกทุกคนจะต้องมีสังคม ต้องมีเพื่อน แทนที่ลูกจะต้องออกไปข้างนอก ก็ให้เพื่อนของลูกเข้ามาในบ้านดีกว่า คุณแม่เป็นคนมีความรู้ จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เด็กแถวบ้านส่วนหนึ่งเป็นเด็กสลัม ความรู้น้อย แทนที่จะปล่อยให้เด็กๆ เหล่านั้นเอาเวลาว่างไปใช้ให้สูญเปล่า คุณแม่ก็พาพวกเขาเข้ามาในบ้าน มาเรียนหนังสือ บางคนชอบกีฬา แม่ก็ซื้อนวมให้ฝึกชกมวย ดังนั้นบ้านของเราจึงเป็นบ้านที่ทุกคนเข้ามาใช้ชีวิต และเรียนรู้กัน”
ในยามที่มีคนหนีร้อนมาพึ่งเย็น หลายครั้งที่คนเหล่านั้นได้รับการช่วยเหลือจากบ้านหลังใหญ่ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของมากไปด้วยน้ำใจ
“เวลาที่เพื่อนบ้านลำบาก เข้ามาในบ้านแล้วบอกว่า พี่คะขอเช่าตรงนี้เก็บของได้ไหม คุณแม่ก็จะมาถามลูกๆว่า จะให้เขาเช่าได้ไหม เพราะเขาเดือดร้อน พวกเราก็บอก แล้วแต่แม่ ถ้าคิดว่าเขาเดือดร้อนจริงๆ ก็ให้เขาเช่าแล้วกัน อีกคนเป็นพ่อค้าขายผลไม้ ถูกไล่ที่มาไม่รู้กี่ที่ เขาบอกคุณ แม่ว่า คุณนายครับ ผมไม่มีที่ไปจริงๆ ขอมาอาศัยขายผลไม้ตรงนี้ได้ไหม จะไม่ทำ ให้เดือดร้อนเลย คุณแม่ก็จะมาถามลูกๆ อีกว่าจะให้เขาเช่าไหม เขามีลูกอีกห้าคนนะ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ได้จากคุณแม่ เพราะคุณแม่เป็นคนมีน้ำใจมาก ทั้งที่คุณแม่ไม่จำเป็น ต้องช่วยก็ได้”
แม้จะมีความแตกต่างด้านฐานะ แต่ด้วยความรักในดนตรี ได้นำพาชีวิตของ สุเทพ และ บุษปรัชต์ มาบรรจบกัน ก่อเกิดเป็นวงดนตรีชื่อ โฮป (Hope) ที่เริ่มต้นนั้นเป็นการรวมตัวกันระหว่างเขาทั้งสองและน้องชายคนเล็กของบุษปรัชต์ซึ่งป่วยเป็นโปลิโอ
โดยที่ โฮป ในความหมายของสุเทพ คือความหวังที่อยากจะเห็นอาชีพนักดนตรี เป็นที่ยอมรับของสังคม ส่วน โฮป ในความหมายของบุษปรัชต์ คือความหวังที่อยากจะเห็นสังคมดีขึ้น
จากการเป็นเพื่อนร่วมวง สู่การเป็นเพื่อนชีวิตในเวลาต่อมา สุเทพกล่าวว่า
ถือเป็นความโชคดีของชีวิต ที่ผู้ชายซึ่งมาจากครอบครัวเช่นเขาได้ผู้หญิงที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่ามาเป็นภรรยา ขณะที่บุษปรัชต์กล่าวว่าเธอไม่ได้เลือกตัดสินคนจากฐานะ
“ไม่เคยคิดว่าชีวิตจะต้องเลือกคนที่มีฐานะดี คิดแต่เพียงว่าคนที่มีความคิดไปด้วยกันได้ มองสังคมคล้ายๆ กัน น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าเงินทอง เพราะเงินทองมันหมดลงได้ และเราก็สามารถหาเองได้ ที่สำคัญเขาเป็นคนที่ขยัน จริงใจ และไม่เที่ยว”
ชีวิตคู่ของเขาและเธอไม่ได้เริ่มต้นที่การ แต่งงาน มีเพียงใบทะเบียนสมรสเท่านั้น ที่เป็นหลักฐานยืนยันถึงการเริ่มต้นชีวิตคู่ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ทั้งคู่พาตัวเองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนิสิตนักศึกษา นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และใช้ชีวิตอย่างสมถะในบ้านที่ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกใด ๆ ทั้งสิ้น
“เรามามีตู้เย็นตู้เล็ก ๆ ตู้หนึ่ง กาต้มน้ำใบเล็กๆ อันหนึ่ง ก็ตอนที่มีลูกโซ่ ลูกสาวคนโต เตารีดเราก็ไม่มี เพราะเราคิดว่ารีดผ้าไปทำไม ไม่จำเป็นต้องรีด คือสิ่งเหล่านี้เราคิดว่าไม่ใช่ความจำเป็นอะไรเลย เราอยู่แบบคนยากจนจริง ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า เรายากจน จนกระทั่งต้องเป็นอย่างนี้”
แต่เป็นเพราะอุดมการณ์ในการใช้ชีวิตที่สอดประสานไปกับอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้น
“ชีวิตตอนนั้นเป็นชีวิตที่ค่อนข้างไม่ได้มานั่งคิดว่า เรานี้มีกันและกัน เรามัวแต่คิดเรื่องบ้านเมืองจะเป็นยังไง ทุกวันทุกนาที จนกระทั่งหลับ เราคุยกันแต่เรื่องนี้ หน้าแทบจะไม่เคยยิ้ม คือมันมีแต่เรื่องที่เราต้องคิดเพื่อสังคม” บุษปรัชต์กล่าว
สุเทพ เสริมอีกว่า
“คิดว่าสักวันเราต้องชนะ...ชนะในความหมายของเราก็คือ ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียง ได้ในสิ่งที่ควรจะได้ นี่คือความคิดของเราในตอนนั้น และเราใช้เวลาอยู่กับตรงนี้นานมากเป็นสิบปี จนเพื่อนบางคนบอกว่า เขาไม่น่าเสียเวลากับตรงนี้ไปเลยเป็นสิบปี ถ้าไม่งั้นอนาคตก็คงไปไกล ผมยังเคยหลงทางไปคิดอย่างที่เขาคิดเลย แต่เรามารอบคอบในความคิดทุกอย่างนี่ ก็ตอนที่มีลูกโซ่ คิดว่าเราควรจะนึกถึงตัวเรา นึกถึงครอบครัวแล้วล่ะว่าจะอยู่กันยังไง”
ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาลได้ออก พรก. 26/23 เปิดช่องให้คนที่หนีเข้าป่าออกมามอบตัวและประกอบกิจการตามปกติ และเป็นจังหวะที่ทั้งคู่ได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านดนตรี พาตัวเองสู่การเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่มีคนรู้จักมากขึ้น
แต่ไม่ว่างานจะล้นมืออย่างไร ลูกก็ยังคือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับพวกเขา
“เราเลือกเขาเป็นหลัก คืออะไรก็ตามจะมาแยกเขาไปจากเราไม่ได้ งานเรารับให้น้อยลง แต่ขอให้มีเวลาอยู่กับลูก หลายคนพูดกันว่า ทำไมเราคิดอย่างนี้ ทำไมไม่ให้พี่เทพคนเดียวออกไปทำงาน ไปเล่นดนตรี เราก็บอกไปว่า ทำแบบนั้นก็ได้ แต่ว่าครอบครัวจะไม่อบอุ่น เรารู้ว่าทำแบบไหนถึงจะได้เงิน แต่เราต้องเลือกว่าจะเอาครอบครัวหรือจะเอาเงินเอาทอง ซึ่งเราสองคนเลือกที่จะอยู่กับครอบครัว”
ในความเป็นจริงที่น่าสนใจ หัวหน้าครอบครัวอย่างสุเทพและพี่แดงรักที่จะใช้จ่ายเวลาไปกับครอบครัวมากกว่าการออกไปพบปะสังสรรค์กับสังคมภายนอก
“โลกข้างนอกมันเป็นโลกที่เหมือนกับว่าเราต้องไปทำตัวเสแสร้ง ทั้ง ๆ ที่เราเป็นคนที่ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แต่เราต้องเสแสร้งเพื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง เราไม่ชอบสังคมแบบนั้น เราอยากอยู่ของเราอย่างนี้ดีกว่า เวลาเราทำงาน ต้องเดินสายเล่นดนตรี ในช่วงที่เริ่มมีชื่อเสียงบ้างแล้ว เรายังหอบหิ้วเอาลูกไปเลยนะ เราไม่อยากจะปล่อยให้เขาอยู่ลำพัง หรือต้องไปฝากญาติพี่น้อง ถ้าจำเป็นที่จะต้องลาโรงเรียน เราก็ให้เขาลาสักวันสองวัน”
สำหรับคนทั้งคู่ ลูกคือสิ่งที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างบางอย่างที่เคยมี และมีส่วนทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นในกันและกันมากขึ้น
“ถ้าไม่มีลูก ป่านนี้เราคงไม่รู้จักกันแล้ว คือคงเลิกกันไปแล้ว คือก่อนที่เราจะมีลูกนี่ เรายังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์นะคะ ยังมีความลับ มีความน้อยใจ มีความไม่วางใจ เขาจะไปเมื่อไหร่ก็ได้ เราจะไปเมื่อไหร่ก็ได้ จะเลิกกันเมื่อไหร่ก็ได้ แต่พอมีลูกปั๊บ ทุกอย่างมันคือร้อยเปอร์เซ็นต์ เราทุ่มเทให้กับเขาหมดทุกอย่าง ทุกข์สุขอย่างไรเราก็อยู่ ด้วยกัน ลูกป่วย ต้องพาลูกไปหาหมอ เราไปด้วยกัน เราเห็นลูกเจ็บ เราก็รู้สึกเจ็บด้วยกัน เพราะว่าเขาเป็นสิ่งเดียวที่เราสร้างมาด้วยกัน”
ครอบครัว ‘ถวัลย์วิวัฒนกุล’ เป็นครอบครัวที่ต่อต้านความรุนแรง ดังนั้นในการเลี้ยงลูกจะไม่ให้มีการตีเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
“จะให้เขาคิดมากกว่า เราไม่ใช้คำหยาบ กับลูก และที่สำคัญคือเราไม่ตีลูก เราต้องฟังลูกก่อน อย่าเอาอารมณ์ของเราเป็นใหญ่ อย่าเพิ่งพูดสิ ฟังแม่พูดก่อน แบบนั้นไม่ใช่” บุษปรัชต์กล่าว
ขณะที่ สุเทพ เสริมอีกว่า
“แต่ว่าเรื่องเสียงดังกับลูก ดุหรือว่ากล่าว ก็มีบ้าง เป็นปกติของครอบครัวทุกครอบ- ครัว แต่ถึงขั้นลงไม้ลงมือ ไม่เคยมี และถ้าเผื่อเรารู้ว่าครูที่โรงเรียนตีลูก เอาแล้ว เป็นเรื่องแน่ เพราะเรายอมไม่ได้ คือเราคิดอยู่ตลอดเวลาว่า เราเป็นครอบครัวที่ต่อต้านความรุนแรงทุกชนิด ขนาดของเล่นของลูก เรายังคิดเลยว่า ของเล่นที่เราจะหาให้ลูก ควรจะเป็นของเล่นอะไรบ้าง เราจะต่อต้านของเล่นที่ทำให้เขาก้าวร้าวและรุนแรง อย่างเช่น หนังสติ๊ก ปืน ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก หรือทำจากอะไรก็แล้วแต่ เราไม่เอาทั้งสิ้น”
ดังนั้น ณ ปัจจุบัน ลูกสาวทั้งสองคนของพวกเขา นั่นคือ ‘ลูกโซ่’ ซึ่งหมายถึงผู้มีความแข็งแกร่ง ไม่เปราะบาง และ ‘ลูกศร’ ซึ่งหมายถึงศรที่ชี้นำชีวิตไปในทางที่ถูกต้องดีงาม จึงรับเอาความคิดในการต่อต้านความรุนแรง มาจากทั้งพ่อและแม่ ภาพความสุขฉายส่องประกายระบายอยู่เต็มใบหน้าของคนทั้งคู่ แม้ไม่ได้ฟังคำบอกเล่าใดๆ ใครๆก็สามารถรับรู้ได้ว่า พวกเขามีความภาคภูมิใจในตัวลูก ๆ แค่ไหน
“เขาเริ่มต้นทำเหมือนเรา เหมือนกับที่เราเคยทำให้คนอื่นนั่นแหละ พอเขาเริ่มรู้ด้วยตัวเองว่า ครอบครัวของเราเป็นครอบ- ครัวที่ให้ เพราะเราคิดเสมอว่า เราควรจะเป็นคนที่ให้คนอื่น ให้ความรัก ให้กำลังใจ พอเขาเติบโตมากับความรู้สึกแบบนี้ ทุกวันนี้เขาจึงเอากลับคืนมาให้เรา” ผู้เป็นพ่อเล่าและผู้เป็นแม่ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
“สิ่งที่เขาให้เรา ไม่ได้หมายถึงให้เงินทองนะคะ แต่ให้ในที่นี้คือ ให้เขาเป็นคนดี ทำตัวดี ไม่เคยทำให้เราพ่อแม่จะต้องเดือดร้อน หรือว่าไปติดยา ไปกินเหล้า ไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้เลย สิ่งที่เขาให้เรา คือเขาคิดแต่เรื่องดีๆ ว่าเขาจะต้องทำอะไรให้สังคม จะต้องทำประโยชน์อะไรให้ส่วนรวม”
และมีหลายครั้งที่ความคิดดีๆ เหล่านั้น ของเด็กตัวเล็กๆ ได้ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลง
"ประมาณ 7-8 ปี ที่แล้ว มีเพลงที่น้องเขาแต่งขึ้นตอนอายุ 11 ขวบ อาจจะยังไม่ไพเราะมากมาย และต้องให้คุณพ่อของเขาช่วยเกลาบ้าง เนื้อหาของเพลงพูดถึงชาวนา ชื่อเพลงว่า ‘บนท้องฟ้า’ เป็นเพลงที่พูดถึงเมฆ แสงแดด ผีเสื้อ แล้วสุดท้ายอยากจะให้ก้อนเมฆลอยไปหาชาวนา"
"เด็กตัวแค่นั้น ทำไมเขาไม่นึกถึงตัวเขาเอง แต่เขากลับไปมองถึงความทุกข์ของคนอื่นได้ สิ่งเหล่านี้มันมีน้อยในสังคม ที่เวลานี้ จะทำอย่างไรฉันถึงจะได้ จะกอบโกย เอา..เอาตรงนั้นตรงนี้มาเป็นของฉัน แต่ว่าเราโชคดีมากที่ลูกโซ่ลูกศรไม่เป็นอย่างนั้น"
หลายปีมาแล้วที่ วงดนตรี ‘โฮป’ ได้กลายเป็นความทรงจำ และต่อยอดมาเป็น ‘โฮป แฟมิลี่’ ที่ปรากฏตัวต่อผู้ฟังในฐานะวงดนตรีของครอบครัว ทว่าเนื้อหาของบทเพลงก็ยังเป็นเนื้อหาที่ให้ความหวัง ให้กำลังใจและต่อต้านความไม่ชอบธรรมในสังคม
"เป็นความตั้งใจอยู่แล้วด้วย ที่เราอยากจะให้ลูกๆ มีส่วนร่วม เพราะเรามองว่า เรื่องของศิลปะเป็นเรื่องสำคัญมากใน การใช้ชีวิต คนที่ความคิดในเรื่องศิลปะ เขามักจะมีความสุข มีความอ่อนโยนและไม่เป็นคนก้าวร้าว ลูกๆ เข้ามาร่วมกันเต็มตัวเมื่อประมาณ 7-8 ปี ที่แล้ว ซึ่งบังเอิญเรามีปัญหาเรื่องทีมด้วย ทีมที่เล่นแบ็คอัพให้เรา อย่างมือกลอง มือเบส อะไรนี่ เรามีปัญหา เพราะว่า นักดนตรีโดยทั่วไป เขาจะต้องเล่นทุกวัน และมีรายได้ทุกวัน แต่เราเลือกครอบครัว เราไม่เล่นทุกวัน เราไม่เล่นกลางคืน เราเอา เวลาส่วนใหญ่อยู่กับลูก เขาก็เลยอยู่กับเราไม่ได้ เพราะรายได้เขาไม่พอ ผมเลยตัดสินใจ ในเวลานั้นเลยว่า เล่นกีต้าร์ตัวเดียวเลยดีกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนหน้านั้น หลายงานที่เรารับเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เราก็เล่นกีต้าร์ตัวเดียวอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีทีมแบ็คอัพ ก็เลยกลายเป็น โฮป แฟมิลี่"
"มันก็เลยสมปรารถนาของเราที่ว่า ไปไหนแทนที่เราต้องหอบหิ้วเอาลูกไป กลับกลายเป็นว่า ถ้าไม่มีเขา เราหากินไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะเดี๋ยวนี้เวลาคนจ้าง เขาต้องถามก่อนว่า น้องโซ่กับน้องศรมารึเปล่า หรือไม่เราก็ต้องเป็นฝ่ายบอกว่า เดี๋ยวก่อน นะ โทรมาใหม่ได้ไหม ต้องถามลูกก่อน ต้องถามคิว เพราะว่าเขามีเรียน มีอะไรต่อ อะไรที่ต้องทำ ซึ่งถึงตอนนี้ถือว่าเป็นยุคของเขาแล้ว"
ขณะนี้ ลูกโซ่ ลูกสาวคนโตได้ทุนเรียนต่อในระดับปริญญาโทด้านธุรกิจบันเทิง ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ส่วนลูกศรลูกสาวคนเล็กกำลังเรียนในระดับปริญญาตรี ด้านการร้องเพลง ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
นอกเหนือจากการสัญจรไปแสดงดนตรีตามที่ต่างๆ ที่มีผู้ว่าจ้างมา และออกไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วงโฮป แฟมิลี่ ยังได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการค่ายเยาวชนดนตรี ซึ่งใช้ดนตรีเป็นสื่อกระตุ้นจิตสำนึก สร้างสรรค์ความดีผ่านบทเพลง โดยจัดทำเป็นโครงการสัญจรไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ
“สุดท้ายเราก็มาตัดสินใจกันว่า ถ้าเราไม่เลือกที่จะเล่นในร้านเหล้า แต่เราเลือกครอบครัว เลือกที่จะทำงานเพื่อสังคม เราควรจะใช้ชีวิตนักดนตรีไปในเส้นทางแบบไหน เราก็เลยคิดโครงการขึ้นมาในครอบครัวของเรา พ่อ แม่ ลูก ว่าโครงการแบบไหนที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม แล้วประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะต้องไปพัฒนาเยาวชนคนหนุ่มสาวทางปัญญาด้วย เราเสนอโครงการไปที่สสส. ซึ่งเขารณณรงค์ เรื่องไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า แต่โครงการที่เราเสนอ มันไม่ใช่เรื่องของการเลิกบุหรี่ เลิกเหล้า มันเป็นเรื่องของ การทำค่ายเยาวชนดนตรี แต่บังเอิญเขาเห็นพ้องต้องกันกับเราว่า ดนตรีก็สามารถ สร้างสุขได้ เพราะฟังแค่เสียงของมันก็ทำ ให้เกิดความสุขได้แล้ว ยิ่งถ้าเป็นดนตรีที่มีเนื้อหาที่ดีๆ ด้วยก็ยิ่งดีไปใหญ่ เพราะมันสามารถสร้างจิตสำนึกให้คนได้ เขาก็เลยสนับสนุนทุนให้เรา และเราก็ทำโครงการสัญจรไปตามโรงเรียนต่างๆ ต่อเนื่องมา 6 ปีแล้ว”
ในอนาคตไม่ว่าครอบครัวดนตรีอย่าง โฮป แฟมิลี่ จะต้องปรับกระบวนท่าเพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงในด้านไหน ทั้งสุเทพและบุษปรัชต์ก็ได้กล่าวย้ำว่า “ถึงอย่างไรเราก็ไม่ทิ้งปัญหาบ้านเมือง”
ส่วนการดำเนินชีวิตเพื่อให้อยู่ใน กรอบของศีลธรรม ครอบครัวนี้มีหลักอยู่ว่า“ขอแค่คิดดี ให้ทำดี ไม่ยุแยงตะแคงรั่ว ไม่ทำให้คนอื่นเสื่อมเสีย ก็โอเคแล้วนะ ไม่ไปเอารัดเอาเปรียบ ไม่ลักขโมย ไม่คอรัปชั่น (หัวเราะ)...ไม่ปล้นชาติ”
เพียงเท่านี้พวกเขาก็น่าจะเป็นครอบครัวแห่งความหวังและเป็นแบบอย่างให้กับอีกหลายครอบครัว
จากจุดเริ่มต้นสมาชิกเริ่มต้นสองท่าน เพิ่มเป็น "สี่" เปลี่ยนจาก โฮป (Hope) มาเป็น ‘โฮป แฟมิลี่’ (Hope Family) วงดนตรีเพื่อชีวิต ที่ในอดีตมีเพียงสองสามีภรรยา‘สุเทพ’ และ ‘บุษปรัชต์’ ถวัลย์วิวัฒนกุล ร่วมกันขับขานบทเพลงแห่งความหวัง แต่มาภายหลังมีลูกสาวสองคน ‘ปริตอนงค์’ (ลูกโซ่) และ ‘วฤทธรัชต์’ (ลูกศร) มาร่วมวง จนกลายเป็นวงที่อบอุ่นยิ่งขึ้น พวกเขายังกลายเป็นแบบอย่างให้กับหลายครอบครัว ที่หวังอยากเห็นความสุขของมนุษย์เริ่มต้นที่บ้าน
วงโฮป แฟมิลี่ จะกลายมาเป็นครอบครัวที่อบอุ่นและน่ารักในวันนี้ไม่ได้ หากทั้งผู้เป็นพ่อและแม่ (สุเทพและบุษปรัชต์) ไม่ได้รับการหล่อหลอมด้านคุณธรรมและความคิดที่ดีงามจากครอบครัวของตัวเองมาก่อน
ถ่ายมุมเดิมที่เดิมเวลาเดิมโทรศัพท์มือถือเครื่องเดิม ดาวน้อยสองดวงลงมาอยู่ข้างล่างจันทร์เสี้ยว
สุเทพ โฮป
เมื่อ 23 กุมภาพันธ์
สำหรับภาพนี้ คาดว่าน่าจะเป็นโพสต์สุดท้าย เมื่อ 1 วันที่ผ่านมา
ร่วมรำลึกในการจากไปของ พี่สุเทพ หรือ สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล วงโฮป RIP.15/05/ 2566
ขอขอบคุณที่มา : จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 101 เม.ย. 2552 เรียบเรียงโดย : พรพิมล มา ณ โอกาสนี้
ย้อนชมคลิป ที่จะจดจำไว้ตราบนิรันดร์ #อาลัยยิ่ง #วงโฮป
ภายหลังการแจ้งข่าว มีคนในวงการเพลงและแฟนๆ เข้าไปแสดงความเสียใจและอาลัยต่อการจากไปของ พี่สุเทพ วงโฮปศิลปินตัวจริงและเป็นศิลปินระดับตำนานเป็นจำนวนมาก
เพลงฮิตตลอดกาลของวงโฮป ก็คือเพลง กำลังใจ เนื้อหาท่อนฮุกสุดกินใจ..ที่ไม่ว่าใครฟังกี่ครั้งก็ยังซาบซึ้งทั้งเนื้อหาและเสียงร้องต้นฉบับที่ต้องพี่แดงและพี่สุเทพ ต้นฉบับตัวจริงที่รื่นรมย์อย่างแท้จริง
"กำลังใจจากใครหนอ ขอเป็นทานให้ฝันให้ใฝ่ ให้ชีวิตได้มีแรงใจ ให้ดวงใจลุกโชนความหวัง กำลังใจจากใครหนอ ขอเป็นทานให้ฉันได้ ดั่งหยาดฝนบนฟากฟ้าไกล ที่หยาดรินสู่ผืน ดินแห้งผาก"