Nation Crime ตามรอยเรือนจำท่องเที่ยว ที่เรือนจำกลางจังหวัดระยอง หรือเรือนจำเขาไม้แก้ว 1 ในเรือนจำท่องเที่ยวจาก 23 แห่งทั่วประเทศ เพื่อพูดคุยกับผู้ต้องขังหรือนักโทษ ที่เตรียมความพร้อมในการฝึกอาชีพและความพร้อมด้านจิตใจ เพื่อกลับสู่สังคม และไม่หวนกลับมาทำผิดซ้ำอีก
โดยเรือนจำเขาไม้แก้ว เป็นการต่อยอดการฝึกอาชีพโดยร่วมกับคนในชุมชน จัดพื้นที่เรือนจำชั่วคราวขึ้น เพื่อให้นักโทษได้รับการฝึกอาชีพ ในศูนย์เรียนรู้ฝึกอาชีพผู้ต้องขัง
ฐิติชญา ศรีดอกคำ ผู้ดำเนินรายการ
โดยบรรยากาศภายในเรือนจำท่องเที่ยว ทลายกำแพงความคิดความน่ากลัวภายในเรือนจำออกไปอย่างหมดสิ้น โดยมีการสร้างให้คล้ายกับสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีคาเฟ่ ร้านอาหาร สัตว์ต่างๆ สวนดอกไม้ นวดแผนไทย ให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อน และการออกบูธอาหารที่มีทั้งนักโทษและคนในชุมชนมาช่วยให้บริการนักท่องเที่ยว
โดยประเทศไทยมีเรือนจำทั้งหมด 142 แห่ง แยกเป็นเรือนจำความมั่นคงสูง 9 แห่ง ผู้ต้องขัง 289,867 ราย เป็นชาย 253,553 คน หญิง 36,309 คน คดียาเสพติดสูงถึง 70.59 เปอร์เซ็นต์
ผู้ต้องขังที่ทำผิดซ้ำมากที่สุด คือ คดียาเสพติด 68.57 เปอร์เซ็นต์ คดีทรัพย์สิน 12.89 เปอร์เซ็นต์ คดีอื่นๆ 8.63 เปอร์เซ็นต์ คดีความผิดต่อชีวิต 5.57 เปอร์เซ็นต์ และ คดีความผิดทางเพศ 1.99 เปอร์เซ็นต์
และจากสถิติย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 พบว่าผู้ต้องขังที่พ้นโทษและกระทำผิดซ้ำ ในช่วง 1 ปีหลังพ้นโทษ 11.96 เปอร์เซ็นต์ ช่วง 2 ปีหลังพ้นโทษ 23.36 เปอร์เซ็นต์ ช่วง 3 ปีหลังพ้นโทษ 27.03 เปอร์เซ็นต์
และจากที่ได้พูดคุยกับนักโทษในเรือนจำ ต่างบอกว่าไม่อยากเข้าไปอยู่ในนั้น แต่เขากลับเข้าออกบ่อยครั้ง ด้วยการกระทำผิดแบบเดิม อะไรที่ทำให้เขาไม่เกรงกลัวด้านในเรือนจำ โดยมีนักโทษประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์กลับเข้าเรือนจำด้วยการกระทำผิดซ้ำเดิม เราพบว่าปัญหาหลักคือการไม่มีที่ยืนในสังคม ทำให้แม้ว่าจะไม่อยากสูญเสียอิสรภาพ แต่ก็ต้องกลับสู่งวังวนเดิมๆ
น้องมิ้น (นามสมมุติ) อดีตช่างเสริมสวย นักโทษหญิงวัย 33 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุก 25 ปี จากคดีค้ายาเสพติด เล่าว่า คดีค้ายาเสพติดรู้ว่าผิด แต่ไม่รู้ว่าโทษจะสูงขนาดนี้ นั่งรถมากับเพื่อนและเจอด่าน ตอนนั้นเป็นวัยรุ่น คิดน้อยไป ร้องไห้ทุกวัน อยากกลับออกไปแต่สายไปแล้ว
ตอนนี้ถูกจำคุก 9 ปีแล้ว จากยอดเต็ม 25 ปี ได้รับอภัยโทษเหลือจำคุก 10 ปี ตอนนี้เหลือโทษจำคุกอีก 1 ปี
เข้าโครงการฝึกอาชีพ จะไปเปิดร้านเสริมสวย และการฝึกอาชีพทำให้ไม่เครียด ถ้าว่างไปมันจะเครียด ฟุ้งซ่าน คิดถึงแต่เรื่องข้างนอก นักโทษหญิงที่ฝึกอาชีพส่วนมากจะเป็นเดอะเดลี่ ร้านน้ำ เสริมสวย บางคนอยากเปิดร้านเป็นของตัวเอง
ด้าน นายเลิศ (นามสมมุติ) ผู้ต้องหาคดีครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย ถูกจำคุก 25 ปี เคยขับรถเทรลเลอร์ที่แหลมฉบัง มีครอบครัวมีภรรยามีลูก แต่พอถูกจำคุกลูกและภรรยาไม่เคยมาเยี่ยมเลย ไม่มีใครมาเยี่ยมเลย
นายเลิศ เปิดใจว่า เงินเดือนมันน้อย ก็ซื้อยาบ้าเสพ เงินไม่พอ ค่าเที่ยวเดินรถไม่พอ ก็เลยไปรับยาบ้ามาขาย รับมา 4-5 ครั้ง รับมาครั้งละ 2,000 เม็ด ขายหมดแล้วก็ไปเอาใหม่ ขายให้พวกเดียวกันที่ขับรถ ถูกจับเพราะถูกล่อซื้อ หลังเล่นไพ่กลับมา ตอนถูกจับพูดไม่ออก ลืมตกใจไปเลย ถูกจับพร้อมยาบ้า 800 เม็ด
ถูกตัดสินจำคุก 25 ปี ได้รับการอภัยโทษเหลือจำคุก 11 ปี ตอนนี้จำคุกมาแล้ว 8 ปี เกือบจะได้รับอิสรภาพแล้ว
การฝึกอาชีพในเรือนจำช่วยบรรเทาความเหงา ทำให้เวลาเร็วขึ้น และคิดว่าเมื่อออกไปจะยึดอาชีพเกษตรกร ปลูกผัก ตามที่เรือนจำสอน นำวิชาชีพไปใช้ได้ดี และจะไม่กลับมาในเรือนจำอีก
“ฝากถึงคนข้างนอก อย่าไปยุ่งกับยาเสพติดเลย มันไม่คุ้มหรอก อยู่ข้างนอกดีกว่า”นายเลิศเผย
กฤษณะ ทิพยจันทร์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางระยอง
ด้านนายกฤษณะ ทิพยจันทร์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางระยอง กล่าวว่า คนเราเมื่อไม่มีรายได้ เขาก็ต้องไปหารายได้จากทางที่ไม่ถูกต้อง คือ การลักขโมยหรือค้ายาเสพติดอีก ถ้าเขาได้รับโอกาสแน่นอนว่า เขาต้องเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้
การฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังเป็นนโยบายที่กรมราชทัณฑ์ทำมาตลอด เพราะผู้ต้องขังที่พ้นโทษต้องกลับไปใช้ชีวิตในสังคม ถ้าไม่มีวิชาชีพติดตัวจะไม่มีรายได้ และกระทำผิดซ้ำ
เราจะมีการฝึกอาชีพตั้งแต่ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะยาวส่วนมากจะฝึกวิชาชีพทักษะสูง เช่น ช่างไม้ ช่างหวาย ช่างแกะสลัก งานปั้น เพราะฉะนั้นผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษสูง ก็จะเรียนรู้ได้ดีจนเก่ง
ส่วนระยะกลางจะเตรียมความพร้อมก่อนคืนสู่สังคม เช่น ช่างเชื่อม ช่างโลหะ ช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา
การฝึกอาชีพผู้ต้องขัง ไม่ใช่งานยากเท่ากับการเปิดใจให้สังคมยอมรับผู้ต้องขังเหล่านี้ นั่นคือที่มาของการเชิญชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว ให้พวกเขาได้ใกล้ชิดพูดคุยและสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้ต้องขัง ขณะเดียวกันผู้ต้องขังมีกำลังใจ ก็จะได้รับพลังจากสังคม และมองภาพตัวเองออกว่า เมื่อพ้นกำแพงเรือนจำออกไปแล้ว พวกเขาจะปฏิบัติตัวเองอย่างไร
เรามีตลาดนัดคนดี มีชุมชนเข้ามาขายของ ทำให้เกิดความสัมพันธ์กัน ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าเป็นนักโทษ เป็นการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นในเรื่องของจิตใจ
เราดูในเรื่องของสถิติจากประวัติผู้ต้องขังที่กลับเข้ามาซ้ำ เท่ากับว่า 100 คน กระทำผิดซ้ำ 20 คน ในระยะเวลา 3 ปี ระยะเวลาที่เพิ่มขั้นถ้าเขาไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ เขาก็จะกระทำผิดซ้ำ
ฉะนั้นการฝึกวิชาชีพและการได้รับโอกาสจากชุมชนจึงมีความสำคัญอย่างมาก
ชมคลิปรายการ Nation Crime