25 มีนาคม 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่า พบการปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ เพื่อใช้เป็นใบเปิดทางในการนำเข้า ฝุ่นแดง จากต่างประเทศ เข้ามายังประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย จึงได้สั่งการให้ “ทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม” ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบ
จากการตรวจสอบบริษัท เคเอ็มซี 1953 จำกัด พบว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าและยอมรับว่า มีการนำเข้าฝุ่นแดงจริง พร้อมแสดงข้อมูลใบขนสินค้าระหว่างเดือนกรกฎาคม 2567 ถึง มกราคม 2568 จำนวนการนำเข้า 33 ใบขน โดยสำแดงเป็นฝุ่นสังกะสี (Zinc dust) และผงสังกะสี (Zinc concentrate) จำนวน 10,262 ตัน จากประเทศอินโดนีเซีย เม็กซิโก แอฟริกาใต้ โรมาเนีย โมร็อคโก และตุรกี
โดยจากการตรวจสอบพบว่าสินค้าที่สำแดงว่าเป็นฝุ่นและผงสังกะสีนั้นคือ “ฝุ่นแดง” เป็นกากอุตสาหกรรมที่เกิดจากกระบวนการหลอมเหล็ก มีการปนเปื้อนด้วยโลหะหนัก เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่เป็นของเสียเคมีวัตถุตามบัญชี 5.2 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 รวมทั้งเข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล การนำเข้ามาในประเทศไทยต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจ (Competent Authority : CA) ของประเทศไทยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่มีการขออนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าฝุ่นแดงดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ กลับพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ด้วยการแก้ไขและดัดแปลงข้อความว่า สินค้าที่นำเข้านั้นไม่เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และไม่เข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล โดยการนำหนังสือที่ปลอมแปลงนั้นไปแสดงเพื่อใช้เป็นใบเปิดทางในการนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศ เข้ามายังประเทศไทยโดยไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งผิดกฎหมาย คาดว่าการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว มีการวางแผนทำกันเป็นขบวนการ โดยอาจมีเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวด้วย
ทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า หนังสือราชการที่ออกโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ตอบข้อหารือของกรมศุลกากร ในประเด็นสินค้าที่จะนำเข้า เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายหรือของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซลหรือไม่ มีความผิดปกติในหลายประเด็น อาจส่งผลให้มีการนำเข้าขยะและของเสียอันตรายเข้ามาสู่ประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงสั่งการ ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้รายงานผลการตรวจสอบภายใน 15 วัน หากพบว่า เจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดให้ดำเนินการลงโทษขั้นเด็ดขาด พร้อมทั้งสั่งการให้ขยายผลขบวนการปลอมแปลงเอกสารราชการ เพื่อใช้ในการลักลอบนำเข้าของเสียอันตรายโดยไม่ถูกต้อง หากเชื่อมโยงถึงผู้ใดให้ดำเนินคดีทั้งหมด
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม