22 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้สื่อข่าวรายถึงสถานการณ์ชาวต่างชาติเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่อยู่ในการควบคุมดูแล ของกองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอ.(กะเหรี่ยงพุทธ) DABA และ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (บีจีเอฟ.) BGF ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.ตาก ที่ยังคงเป็นปัญหาสำหรับการควบคุมดูแล
โดยเฉพาะเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค หลังมีการเข้าไปช่วยเหลือมาแล้ว เช่น ฝ่ายกะเหรี่ยงดีเคบีเอ.ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพบสภาพปัญหาในการดูแล เลี้ยงดู ทำให้ผู้นำกะเหรี่ยงดีเคบีเอ.ต้องประกาศขอยุติการช่วยเหลือระดมคนต่างชาติในพื้นที่ก่อน
พลจัตวาไซจ่อ หล่าย ประธานองค์กรกะเหรี่ยงดีเคบีเอ. ที่กองบัญชาการฝั่งเมียนมา เขตทางใต้จังหวัดเมียวดี ตรงข้ามบ้านช่องแคบ ตำบลช่องแคบ อ.พบพระ กล่าวกับสื่อเมียนมาว่า ขณะนี้มีชาวต่างชาติอยู่ในการดูแลของฝ่ายดีเคบีเอ.จำนวน 405 คน เป็นปัญหาการดูแลเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และน้ำใช้ เนื่องจากเป็นคนจำนวนมาก ขณะที่ทางไทยก็ไม่รับ และทางสภาบริหารทหารเมียนมา ก็ไม่ว่าอย่างไร
เท่าที่ตนเองทราบ กลุ่มชาวต่างชาติที่ฝ่ายดีเคบีเอ.ส่งผ่านไปประเทศไทย ยังไม่ได้กลับ เพราะไม่มีสถานทูตของแต่ละชาติไปรับ ในส่วนของดีเคบีเอ.ต้องห่วงว่า การควบคุมคนจำนวนมาก โดยที่พวกเขาไม่ใช่นักโทษ อาจจะทำให้พวกเขาหนีข้ามไปฝั่งประเทศไทยได้ หากหนีไปจริงเป็นอันตรายกับประเทศไทย
พลจัตวาไซจ่อ หล่าย ประธานองค์กรกะเหรี่ยงดีเคบีเอ.
พลจัตวาไซจ่อ หล่าย กล่าวด้วยว่า ฝ่ายดีเคบีเอ.ยังยืนยันที่จะปราบปรามบรรดาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในพื้นที่รับผิดชอบให้หมดไปภายใน 3 เดือน แต่การเข้าไปทำงานของคนต่างชาติในพื้นที่ฝั่งเมียนมา เท่าที่ทราบ เป็นความสมัครใจมากกว่า การถูกหลอกลวง และตกลงไปทำงานแล้ว การจ่ายค่าจ้างแรงงานไม่เป็นไปตามข้อตกลง เช่น ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1,200 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่พอจ่ายจริงได้เดือนละ 8,000 บาท และการถูกทรมาน ทำร้ายร่างกายก็มีบ้าง หรือ เป็นการค้ามนุษย์มีการขายตัวลูกจ้างไปให้อีกบริษัทหนึ่งเป็นต้น