14 มกราคม 2568 ที่สภาทนายความ ถนนพหลโยธิน สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เเละคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิตอล โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละ คณะกรรมการบริหารสภาทนายความ คณาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมพิธีลงนาม
ดร.วิเชียร กล่าวว่า ทางสภาทนายความมีความต้องการที่จะนำเทคโนโลยีดีดิจิตอลและบล็อกเซนเข้ามายกระดับบริการ และระบบฐานข้อมูลสมาชิกสภาทนายความ รวมถึงเพิ่มการให้บริการออนไลน์อีกหนึ่งช่องทางในการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกสภาทนายความ จึงได้ร่วมทำข้อตกลงร่วมกับคณะ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิตอล เพื่อยกระดับบริการแก่สมาชิกสภาทนายความให้สอดคล้องกับ พรบ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องการรับรองสิ่งพิมพ์ออกสภาทนายความจึงมุ่งหวังที่จะให้แพลตฟอร์มดิจิตอล เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเอกสาร ต่างๆ ที่ต้องใช้ในกระบวนการยุติธรรม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเซนในการยืนยันความเป็นเอกสาร ต้นฉบับที่ถูกต้อง สอดคล้องกับบทบัญญัติทางกฎหมาย และวิธีพิจารณาความ
"ผมเห็นว่าทนายความมีความยุ่งยาก และเสียเวลามากในการเข้าถึงเอกสารต่างๆ เพื่อใช้ในกระบวนการยุติธรรม เดี๋ยวนี้มีออนไลน์ดิจิตอลแล้ว มีกฎหมายที่รองรับแล้ว เรียกว่าพร้อมแล้ว แต่เรากลับยังไม่นำเครื่องมือเหล่านี้เข้ามาใช้ประโยชน์ สร้างประโยชน์ และอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก พัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ผมตระหนักว่า การนำแพลตฟอร์มเข้ามาใช้จะมีประโยชน์อย่างสูง ซึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ปรับความเข้าใจในการใช้กฎหมายดิจิตอล ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย การที่เราได้ทำงานร่วมกับคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นสถาบันชั้นนำของประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและสอนกฎหมาย เราก็มั่นใจว่าเราจะสามารถดำเนินการต่างๆได้สำเร็จลุล่วง" ดร.วิเชียร กล่าว
ดร.วิเชียร กล่าวอีกว่า การพัฒนาระบบแพลตฟอร์มดิจิตอลของสภาทนายความ เพื่อให้สมาชิกสภาทนายความสามารถเข้าถึงเอกสารต่างๆของสภาทนายความแล้ว ยังเตรียมจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าถึง ข้อมูลผ่านทางออนไลน์ เช่น ตรวจเช็กสถานะทนายความ และยกระดับการบริการผ่านทางออนไลน์ ตั้งแต่การรับสมัคร การตรวจสอบผลการสอบ ตลอดจนออกเอกสารรับรอง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ทางสภาทนายความอยู่ระหว่างการพัฒนาบริการออนไลน์ ซึ่งในเฟสแรกเรื่องระบบลงทะเบียน สำหรับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ที่สำเร็จการศึกษา และประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรมวิชาว่าความทนายความ จะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกปีนี้ และเฟสที่สองระบบแพลตฟอร์มดิจิตอล คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสสามของปี
ตนเห็นว่า หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สร้างแพลตฟอร์มดิจิตอล เพื่อยกระดับการให้บริการและเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ว่าจะเป็น Thai ID, เอกสารหนังรับรองนิติบุคคล ฯลฯ เราในฐานะที่เป็นองค์กรสำคัญ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพัฒนาแพลตฟอร์ม ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เมื่อเป็นดิจิตอลกันแล้ว ก็สามารถเชื่อมต่อกันได้ ประชาชนจะได้ประโยชน์ และสมาชิกสภาทนายความ จะได้ประโยชน์ ประเทศชาติจะได้ประโยชน์ เราในฐานะองค์กรผู้ใช้กฎหมายต้องเป็นผู้นำในการนำเครื่องมือทางกฎหมายมาใช้ให้เป็นรูปธรรม
สำหรับ แพลตฟอร์ม ระบบ d-lawyer. มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการที่ทนายความทั่วประเทศ สามารถขอเอกสารจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้ประกอบการดำเนินคดีในศาล เช่น ขอทะเบียนราษฎร์จากกรมการปกครอง ขอเอกสารสิทธิจากกรมที่ดินเป็นต้น โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นทางเลือกในการดำเนินการ เพื่อลดภาระที่ทนายความต้องเดินทางไปขอเอกสารจากหน่วยงานของรัฐ โดยสภาทนายความประสงค์ที่จะพัฒนาระบบยืนยันตัวตนทนายความและตรวจสอบสถานะใบอนุญาตทนายความ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทนายความจะสามารถเข้าใช้งานแพลตฟอร์มได้โดยแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งข้อมูลคำขอจากทนายความไปยังหน่วยงานของรัฐ และเมื่อหน่วยงานของรัฐได้ส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์กลับมา เมื่อทนายความพิมพ์เอกสารดังกล่าวออกมาแล้ว จะสามารถใช้เอกสารที่พิมพ์ออกมาได้อย่างเอกสารต้นฉบับ
ด้าน รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวว่า ปัจจุบันคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมทั้งกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในวันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้ร่วมมือกับสภาทนายความในการพัฒนาแพลตฟอร์ม D-Lawyer ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะให้ความร่วมมือในด้านข้อมูลทางวิชาการเพื่อการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกฎหมายในปัจจุบันให้มากที่สุด
ดร.วิเชียร นายกสภาทนายฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบดังกล่าวกำลังอยู่ขั้นพัฒนา คาดว่าในเดือนนี้จะสามารถเปิดโอกาสรับสมัครผู้ต้องการสอบใบอนุญาตทนาย และการประกาศผลการสอบ และช่วงกลางปีจะพัฒนาระบบด้านการรับรองสถานะทนายความ เพื่อเชื่อมโยงกับศาลยุติธรรม โดยทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมพัฒนาระบบโดยตลอด ทั้งนี้เมื่อระบบได้พัฒนาจนสำเร็จจะมีการแถลงข่าวเปิดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง