svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"นายกสภาทนายความ" ชี้แบบไหน ผิดกฎหมายขายตรง "ฉ้อโกงประชาชน- แชร์ลูกโซ่"

"วิเชียร" นายกสภาทนายความ กางตำรา พฤติการณ์ อย่างไหน ผิดกฎหมาย "ขายตรง-ฉ้อโกงประชาชน" ใครเข้าข่ายบ้าง ชี้หาก "เข้าแชร์ลูกโซ่" โทษสูงสุดถึง 15 ปี ปรับ 1 ล้านบาท หากยังฝ่าฝืนโดนวันละหมื่น

22 ตุลาคม 2567 ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายที่ควรรู้เกี่ยวกับการ ประกอบธุรกิจขายตรง การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง (แชร์ลูกโซ่) หรือการฉ้อโกงประชาชน ว่า  

 

\"นายกสภาทนายความ\" ชี้แบบไหน ผิดกฎหมายขายตรง \"ฉ้อโกงประชาชน- แชร์ลูกโซ่\"

 

เหตุผลในการประกาศใช้ พรบ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560  โดยที่การประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการในปัจจุบันได้ใช้วิธีการทำตลาดในลักษณะที่เข้าถึงผู้บริโภค โดยการเสนอขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภคโดยตรง ณ.ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของบุคคลอื่น หรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ

 

โดยการอธิบายหรือการสาธิตสินค้าผ่านผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง การเสนอขายสินค้าหรือบริการในลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่อาจตัดสินใจตกลงซื้อสินค้าหรือรับบริการได้อย่างอิสระและรอบคอบ 

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค เช่น โดยอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมุ่งหวังให้ผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางแสดงเจตนาตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการดังกล่าวนั้น 

ซึ่งในกรณีนี้สินค้าหรือบริการดังกล่าวอาจไม่ตรงกับคำกล่าวอ้างตามที่ได้โฆษณาไว้ อีกทั้งการทำตลาดขายตรงและตลาดแบบตรงในปัจจุบันได้มีการใช้วิธีการชักชวนและจัดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในธุรกิจดังกล่าว โดยตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชน

การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการขายแบบเชิงรุกดังกล่าว ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปในฐานะผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่สงบสุขในสังคม ประกอบกับบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอ 

 

จึงจำเป็นต้องตรา พรบ.นี้การประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ ตอบแทนการหาผู้ร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น (มาตรา 19) ถ้าฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับ ห้าแสนบาท 

 

นอกจากนี้ยังได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ค่าฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงจากผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกค้าในอัตราที่สูงกว่าที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (มาตรา 22) หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายดังกล่าว หากมีผู้เสียหายได้ทำการแจ้งความดำเนินคดีผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและข้อเท็จจริงเป็นอันยุติที่เข้าองค์ประกอบความผิด ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงไม่อาจที่จะปฏิเสธความรับผิดได้ 

 

และตาม พรบ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 หากได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างเครือข่ายกฎหมายยังได้กำหนดให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณามาใช้บังคับแก่การสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยอนุโลม 

 

โดยให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีและให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเป็นอำนาจของคณะกรรมการ (มาตรา 29) จึงหนีไม่พ้นที่ผู้ประกอบธุรกิจแบบขายตรงจะต้องรับผิดตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 

 

และอาจเชื่อมโยงความผิดตาม พรก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ด้วย ซึ่งตามคำนิยามคำว่า“กู้ยืมเงิน” หมายความว่า รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นการรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่าง หรือลักษณะ โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน 

 

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือของผู้ให้กู้ยืมเงินหรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือ ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้นจะกระทำด้วยวิธีการใดๆ 

 

โดยเฉพาะในมาตรา 4 ซึ่งมีหลักกฎหมายว่า ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำการด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงินตน หรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ 

 


โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 

 

ผู้ใดกระทำความฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่แสนบาทบาทถึงหนึ่งล้านบาทและปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ 

 

นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ยังมีหลักกฎหมายที่สำคัญ คือผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนและได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงผู้กระทำย่อมมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    
ส่วนกรณีมีบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวเช่นการไปร่วมโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้คนสนใจสมัครเป็นเครือข่ายอาจมีความผิดในฐานะเป็นผู้สนับสนุน หรือ หากมีการไปร่วมทุนกับผู้ประกอบธุรกิจขายตรงอาจถือว่าเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดก็ได้