svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

นายกสมาคมนักข่าวฯ ร้อง สภาทนายความ ขอให้ตรวจสอบนักข่าวรับเงินเพิ่มล็อต 2

28 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกสมาคมนักข่าวฯ เข้ายื่นหนังสือกับ นายกสภาทนายความ ให้ตรวจสอบนักข่าวรับเงินเพิ่มล็อต 2 หลังทนายตั้มแฉได้รับเงินเดือนละ 5 หมื่นบาท เผย’บิ๊กโจ๊ก’อาจมาให้ข้อมูลเรื่องเเจกเงินนักข่าวสัปดาห์หน้า

28 มีนาคม 2567 จากกรณี "ศึกสีกากี" ระหว่างบิ๊กตำรวจ เกี่ยวข้องกับคดีเว็บพนันออนไลน์ กระทั่งมีการให้ข่าวตอบโต้กับไปมา จนกระทั่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกคำสั่งย้าย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือ "บิ๊กต่อ" ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ "บิ๊กโจ๊ก" รอง ผบ.ตร. เข้ามาช่วยราชการสำนักนายกฯ แต่ตั้ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. พร้อมคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 60 วัน

ในเวลาต่อมา "ทนายตั้ม" นายษิทรา เบี้ยบังเกิด จัดการแถลงข่าว "เปิดโปงขบวนการส่วยตัวท็อปแบบม้วนเดียวจบ" ตามที่นัดหมายไว้จากการโพสต์เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการเปิดเส้นทางการเงินของเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงถึงนายตำรวจระดับสูง รวมทั้งมีการกล่าวหาว่ามี สื่อมวลชน ได้รับผลกระโยชน์จากเว็บพนันด้วย ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการชี้แจงและปฏิเสธว่า ไม่มีเส้นทางการเงินมาถึงสมาคมฯ ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
ทนายตั้ม แฉเส้นทางการเงินเว็บพนันออนไลน์ โยงถึงบิ๊กตำรวจ และ สื่อมวลชน

ล่าสุด วันนี้ (28 มี.ค.) ที่สภาทนายความฯ ย่านบางเขน "น.รินี เรืองหนู" นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่เกิดคดีที่ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปรากฎข้อมูลว่ามีนักข่าวบางส่วนรับเงินจากแหล่งข่าว โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีนั้นยังไม่แล้วเสร็จ

กระทั่ง การแถลงข่าวของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ก็มีการเผยแพร่ข้อมูลว่ามีนักข่าวและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รับเงินจากแหล่งข่าวและเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ โดยเฉพาะอุปนายก ตัวย่อ ว. จึงจะขอให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับคดีดังกล่าวไปตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย

นายจีรพงษ์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) ตนเองได้พบกับทนายตั้ม และได้พูดคุยกันเล็กน้อย สอบถามถึงข้อเท็จจริง โดยชี้แจงว่าอุปนายกของสมาคมฯ ตัวย่อ ว. ในอดีตมีหลายคน ซึ่งทนายตั้มก็ยืนยันว่า ข้อมูลการรับเงินเป็นไปตามที่เผยแพร่ และเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ได้พาดพิงถึงตัวองค์กร ส่วนจะเป็นอุปนายกท่านใดนั้น ให้ทางสมาคมฯ ไปตรวจสอบกันเอง
ยื่นหนังสือถึง สภาทนายความฯ ตรวจสอบนักข่าวเรียกรับเงิน

อย่างไรก็ตาม นายจีรพงษ์ ยอมรับว่า การที่ทนายตั้มออกมาเปิดเผยแค่ตัวย่อ ทำให้ยากที่องค์กรจะตรวจสอบ เพราะไม่อยากพุ่งเป้าไปที่คนใดคนหนึ่ง เพียงเพราะมีตัว ย่อ ว. เหมือนกัน จะกลายเป็นการกล่าวหาบุคคลนั้น ทั้งที่ตัวย่อดังกล่าวมีหลายคน แต่ทั้งนี้ทางสมาคมฯ ยินดีที่จะถูกตรวจสอบหรือถูกคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียกมาให้ข้อมูล

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่ากรณีนี้จะสามารถตรวจสอบมรรยาททนายความของทนายตั้มได้หรือไม่ นายจีรพงษ์บอกว่า จะมีการหารือในประเด็นนี้กับสภาทนายความด้วย แต่ก็เป็นเพียงประเด็นร้อง 
นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ด้าน ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า การตรวจสอบนักข่าวที่รับเงินจากแหล่งข่าวในคดีแรกนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริงพยานไปเกือบเสร็จแล้ว เหลืออีกแค่บางปากก็จะเสร็จสมบูรณ์ และเมื่อมีการยื่นขอให้ตรวจสอบกรณีที่ทนายตั้มแฉเพิ่มเติม ตนเองก็จะรับเรื่องไว้ และคาดว่าน่าจะสอบพยานเพิ่มเติมอีกไม่มาก จากเดิมที่สภาทนายความตั้งกรอบระยะเวลาไว้ 90 วัน ตอนนี้ใกล้ครบกำหนดแล้ว ดังนั้นก็คาดว่าจะขยายเวลาออกไปอีกประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะเพียงพอในการตรวจสอบทั้ง 2 กรณี ก่อนจะมีการเปิดเผยผลการตรวจสอบในคราวเดียวกัน

ส่วนกรณีที่ทนายตั้มออกมาแถลงข่าวพาดพิงถึงบุคคลอื่นในที่สาธารณะ จนทำให้เกิดความเสียหายนั้น ผิดมรรยาททนายความหรือไม่ 

ดร.วิเชียร บอกว่ายังไม่ได้ดูการแถลงข่าวอย่างละเอียด แต่โดยหลักการสภาทนายความมีข้อบังคับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำหน้าที่ในศาลหรือสถานที่ใด หากพิจารณาแล้วหมิ่นเหม่หรือฝ่าฝืนข้อบังคับ ก็จะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการร้องเป็นคดีมรรยาททนายความได้ ซึ่งการตรวจสอบมรรยาททนายความนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของนายกสภาทนายความ แต่เป็นอำนาจของประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความจะพิจารณาหากเห็นว่าพฤติกรรมของทนายความท่านใดเข้าข่ายผิดข้อบังคับของทนายความ หรือมีผู้ร้องเรียนมรรยาททนายความคนดังกล่าว ก็สามารถตั้งเรื่องตรวจสอบได้ จากนั้นเมื่อคณะกรรมการตรวจสอบแล้วก็จะผลความเห็นกลับมาที่นายกสภาทนายความ ให้พิจารณาถึงบทลงโทษหากพบว่าฝ่าฝืนข้อบังคับทนายต่อไป

ส่วนที่ทนายความของพลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะยื่นฟ้องเอาผิดทนายตั้มนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของคู่กรณีที่สามารถกระทำได้ ซึ่งก็ต้องรอผลตัดสินของศาลถึงที่สุด อย่างไรก็ตามสภาทนายความมีข้อบังคับข้อหนึ่งว่า หากศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่ไม่ใช่ข้อหาประมาท หรือความผิดลหุโทษ และจำเลยเป็นทนายความ ก็จะมีการส่งเรื่องมาที่สภาทนายความเพื่อให้ถอดถอนรายชื่อจากการเป็นทนายความอยู่แล้ว และคู่กรณียังสามารถร้องเรียนต่อสภาทนายความควบคู่กันได้ด้วย ทั้งนี้ยังฝากถึงทนายความ ว่าทนายทุกคนสามารถที่จะแถลงข่าวในประเด็นต่างๆ ได้ แต่จะต้องมีเหตุผลและหลักฐานที่เพียงพอ รวมถึงต้องไม่ฝ่าฝืนข้อบังคับของมรรยาททนายความ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าวในคดีแรกล่าช้า ทั้งที่สอบข้อเท็จจริงพยานไปเกือบเสร็จแล้ว เนื่องจากยังรอพยานปากสำคัญอย่าง พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าให้ปากคำอยู่ ซึ่งมีรายงานอีกว่าพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์เพิ่งจะประสานสภาทนายความมาเมื่อคืนนี้ ว่าอาจจะเข้าให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้า

ขณะที่ให้หน้าเพจเฟซบุ๊กของทนายตั้ม ยังเปิดเผยข้อมูลว่า อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ อักษรย่อ ว. ได้รับเงินจากบัญชีม้าส่วยตั้งแต่ปี 2020 เป็นรายเดือน เดือนละ 15,000 บาท / ต่อมาปี 2021-2022 ก็ได้เพิ่มเป็นเดือนละ 30,000-50,000 บาทด้วย
นายกสมาคมนักข่าวฯ ร้อง สภาทนายความ ขอให้ตรวจสอบนักข่าวรับเงินเพิ่มล็อต 2

logoline