svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เปิดบทลงโทษทางกฎหมาย มือปืน "กราดยิง" กลางห้างดังวัย 14 ปี

เปิดบทลงโทษทางกฎหมาย มือปืน "กราดยิง" กลางห้างดังวัย 14 ปี เมื่อเทียบกับเหตุอุกฉกรรจ์ที่เจ้าตัวก่อขึ้น จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

3 ตุลาคม 2566 เหตุสะเทือนขวัญ กรณีคนร้ายใช้อาวุธปืน กราดยิงกลางห้าง สยามพารากอน ในขณะที่มีประชาชนจำนวนมาก กำลังเดินจ่ายซื้อสินค้า จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 4 คน โดยหลังเกิดเหตุไม่นาน ตำรวจสามารถจับกุม มือปืนที่ลงมือก่อเหตุได้ โดยพบว่า มีอายุเพียง 14 ปี เท่านั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ซึ่งต่อมา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย พร้อมด้วย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ลงพื้นที่พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สอบปากคำ ผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี และมีรายงานว่า ผู้ก่อเหตุลงมือเนื่องจากมีอาการหลอน  จะมีคนมาทำร้าย จึงนำอาวุธปืนมาก่อเหตุดังกล่าว 
เปิดบทลงโทษทางกฎหมาย มือปืน \"กราดยิง\" กลางห้างดังวัย 14 ปี
 

คำถามที่สังคมอยากรู้ตามมาคือ โทษที่มือปืนวัยกระเตาะรายนี้จะได้รับนั้น มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด  เมื่อเทียบกับเหตุอุกฉกรรจ์ที่เจ้าตัวได้ก่อขึ้น? 

เมื่อปี 63  ครม.มีมติ แก้กฎหมายปรับเกณฑ์อายุเด็ก ในการกระทำความผิด และประกาศใช้เมื่อปี 65. ตามนี้

เด็กหรือเยาวชนถูกจับในคดีอาญา กฎหมายระบุโทษและดำเนินคดีอย่างไร? 

เด็กและเยาวชน เมื่อกระทำความผิด จะได้รับโทษไม่เท่ากับผู้ใหญ่ แต่เคยสงสัยไหมว่า ในทางกฎหมายแล้ว จำแนกเกณฑ์อายุของผู้กระทำความผิดว่า เป็นเด็กหรือเยาวชนอย่างไร และแต่ละช่วงวัย ได้รับโทษแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

การจำแนกเกณฑ์อายุเด็กหรือเยาวชน ในกระบวนการและขั้นตอน การจับกุมเด็กและเยาวชน มีกฎหมายที่ใช้หลัก ๆ คือ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565
เปิดบทลงโทษทางกฎหมาย มือปืน \"กราดยิง\" กลางห้างดังวัย 14 ปี

 

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดนิยามของคำว่า เด็ก และ เยาวชน ตาม พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 4 ดังนี้

• เด็ก หมายความว่า บุคคลอายุไม่เกิน 15 ปี บริบูรณ์
• เยาวชน หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ 


การแบ่งเกณฑ์อายุเด็กในกรณีกระทำความผิดอาญา 

เด็กหรือเยาวชนเมื่อทำผิด จะต้องดำเนินคดีภายใต้ศาลเยาวชนและครอบครัว จะมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ 

โดย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ที่เป็นกฎหมายกำหนดขั้นตอน และวิธีการดำเนินคดีกับเด็กหรือเยาวชน มีเจตนารมณ์และบทบัญญัติ ที่มุ่งฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชน ที่ทำความผิดทางอาญา มากกว่ามุ่งลงโทษ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำแนกตามเกณฑ์อายุเด็กหรือเยาวชน ดังนี้

อายุต่ำกว่า 12 ปี 

ตำรวจส่งเรื่องแจ้งไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายคุ้มครองเด็กจะดำเนินการดังนี้

• สืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง แล้วกำหนดแนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก

• จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูเด็ก วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพ การยุติการคุ้มครอง และการเยียวยาผู้เสียหาย

อายุ 12 – 15 ปี 

ตำรวจส่งเรื่องแจ้งผู้ปกครองและสถานพินิจฯ เพื่อดำเนินการสืบเสาะ และจัดทำแผนแก้ไข้บำบัดฟื้นฟูส่งให้ตำรวจ/อัยการ/ศาล ภายใน 30 วัน แล้วนำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ภายใน 24 ชั่วโมง หากศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาคดี เห็นว่ายังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการต่างๆ คือ

• ว่ากล่าวตักเตือน

• ปล่อยตัวชั่วคราว (มี/ไม่มีประกัน)

• ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา/ฝึกอบรม

• มอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคล/องค์กรที่ศาลเห็นสมควร

***ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในระยะเวลาที่กำหนด

อายุ 15 – 18 ปี 

เมื่อตำรวจดำเนินการส่งตัวมาที่สถานพินิจ จะมีการส่งเรื่องต่อไปยังอัยการและจะนำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัวภายใน 24 ชั่วโมง

• หากศาลเห็นว่า ยังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะให้ดำเนินการเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนอายุ 12 – 15 ปี

• หากศาลเห็นว่า เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการดังนี้

– ลดโทษกึ่งหนึ่งของโทษทางกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีอาญา

– สั่งโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ (ถ้าเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิด มีร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และนิสัยเหมือนผู้ใหญ่)

จากรายละเอียดการจำแนก เกณฑ์อายุเด็กและเยาวชน และแนวทางดำเนินการข้างต้น เด็กและเยาวชน แม้ไม่ได้รับโทษอาญา แต่ยังต้องรับผิดในทางแพ่ง โดยพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

ดังนั้นเราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ จึงควรช่วยกันสอดส่อง อบรม ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เด็กและเยาวชนของเราเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคมส่วนรวม
เปิดบทลงโทษทางกฎหมาย มือปืน \"กราดยิง\" กลางห้างดังวัย 14 ปี  

ข้อมูลอ้างอิง
สำนักงานกิจการยุติธรรม