18 กันยายน 2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เปิดเผยกรณีการโอนคดี พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรแบงค์ ไปให้ทางกองปราบปรามเป็นผู้ทำคดี ว่า จุดเริ่ม คือ นายธนัญชัย หมั่นมาก หรือ หน่อง ยิงสารวัตรแบงก์ จากนั้น มีการรวบรวมพยาน หลักฐาน โดยกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 จนออกหมายจับทั้งนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ “กำนันนก” และนายธนัญชัย (มือปืน) จนก็มีการวิสามัญมือปืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จึงเสนอมายังตนว่า เรื่องนี้เป็นคดีสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับผู้มีอิทธิพล และเมื่อใด คดีในพื้นที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ก็จะไม่ได้รับความไว้ใจในกระบวนการยุติธรรม ตนก็เห็นชอบที่จะให้มีการโอนคดีมาที่กองปราบปราม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและรอบคอบในการทำคดี
นอกจากนี้ ในการทำคดีของกองปราบปราม จะมีทั้งในส่วนของหมายจับกำนันนก-นายหน่องแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนของกองปราบก็พิจารณาแล้วว่า มีคนงานในบ้านกำนันนกช่วยเหลือและทำลายหลักฐานในวันเกิดเหตุ ถือว่าเป็นความผิดและดำเนินคดีอาญาไปแล้ว
ต่อมา สำนวนที่ บช.ภ.7 มีการสอบสวนพบตำรวจอีก 6 คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีในข้อหา “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ตามมาตรา 157 ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว ทาง บช.ภ.7 เห็นว่าในคดีนี้เป็นคดีเดียวกัน จึงเสนอขอโอนสำนวนคดีมาให้กองปราบ เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งตนก็เห็นชอบอนุมัติ เมื่อวันที่ 14 กันยายน
“ทั้งหมดก็มีเพียงเท่านี้ ทั้งตำรวจและพลเรือน ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีเดียวกัน ทั้งการช่วยเหลือและการทำลายหลักฐาน” ผบ.ตร.ระบุ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า กองปราบมีอำนาจและศักยภาพการปฏิบัติงานทั่วประเทศ โดยคดีนี้มีเพียงแค่จุดเดียว ไม่ได้ยุ่งยากอะไรและทางพนักงานสอบสวนของกองปราบก็มีจำนวนมาก ตนเห็นด้วยจึงให้โอนคดีไป หลังจากที่มีการโอนคดีแรกไปแล้ว พล.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.)มอบหมาย พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. เป็นหัวหน้า ซึ่งตนมั่นใจว่าจะทำคดีออกมาได้ดี
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวชี้แจงว่า การโอนคดีกำนันนก ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในการทำคดี โดยตนจะดูในภาพรวมทั้งหมด และให้ทาง บช.ก. และ บช.ภ.7 ลงไปทำหน้าที่ในส่วนของตัวเองให้เร็วที่สุด สิ่งที่จำเป็นที่สุด คือ การรวบรวมพยาน หลักฐาน จับกุมผู้กระทำความผิดได้เร็ว อีกทั้ง ในขณะนี้ตนยังสั่งการไปว่า ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีจะต้องถูกดำเนินคดี ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับ ม.157 ทางพนักงานสอบสวนจะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. โดยจะนำสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาว่าจะส่งสำนวนกลับมาให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่
ส่วนประเด็นฮั้วประมูลถือว่าเป็นคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ สามารถทำงานร่วมกับตำรวจ ซึ่งต้องไปเจรจากำหนดหน้าที่กันอีกครั้ง ส่วนที่กำนันนกเป็น กต.ตร.ภ.จว.นครปฐมนั้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ระบุว่า ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญ ยอมรับว่าบางจังหวัดยังมีอยู่ ในเรื่องของเครือข่ายผู้มีอำนาจในการเงิน ในเรื่องของผู้มีอิทธิพล หากมีอีก ผู้บังคับการอาจต้องรับผิดชอบ หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กต.ตร.ในตำแหน่งอยู่แล้ว หากมีการประชุมแล้วพบว่า มีคนไม่ดีเข้ามาเป็น กต.ตร. ก็ต้องพิจารณาให้บุคคลนั้นออกจากตำแหน่ง กต.ตร.
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะต้องมีการพิจารณา และเข้มงวดในการลงสมัคร กต.ตร. รวมถึงเรื่องอาวุธปืน ที่ต้องประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกัน เพราะตำรวจไม่ได้ทำเรื่องอนุญาตเรื่องอาวุธปืน ปัจจุบันตำรวจจึงไม่รู้ว่ามีใครครอบครองปืนกี่กระบอก