13 สิงหาคม 2566 ยังคงเป็นภัยต่อสังคมอย่างมาก สำหรับกลุ่มมิจฉาชีพ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ที่มีการพัฒนารูปแบบ การหลอกลวงประชาชนอยู่เสมอ ๆ จนทำให้ยังมีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ แม้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีความพยายามประชาสัมพันธ์ให้ ประชาชนรู้เท่าทันเพียงใดก็ตาม
ล่าสุด มีรายงานว่า ตำรวจ PCT ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม./หัวหน้า ศปอส.ตร.ชป.1 ได้นำกำลังตำรวจเข้าช่วยเหลือ เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 09.00 น. คนร้าย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้โทรหา ผู้เสียหาย นางสาว ก. นามสมมติ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยชื่อดัง ย่านบางเขน กรุงเทพฯ อ้างว่าเป็น เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย สาขาสงขลา แจ้งว่า พบสมุดบัญชีของผู้เสียหาย ในกล่องพัสดุที่ถูกอายัด เนื่องจากพัสดุดังกล่าว มีความเกี่ยวพันกับขบวนการฟอกเงิน
ภายในกล่องพัสดุ มีพาสปอร์ตของชาวเมียนมา 12 เล่ม ,บัตร ATM 9 ใบ ,สมุดบัญชี 8 เล่ม และมีสมุดบัญชี 1 เล่มปรากฏชื่อของผู้เสียหาย ต่อมาคนร้ายจึงได้หลอกถาม เลขบัญชีธนาคารของผู้เสียหายว่า ตรงกับสมุดบัญชี ในกล่องพัสดุดังกล่าวหรือไม่ และได้แนะนำให้ผู้เสียหายแจ้งตำรวจ สภ.เมืองสงขลา โดยทางคนร้ายที่อ้างตัวเป็นไปรษณีย์ไทย อาสาประสานติดต่อตำรวจให้เพื่อแจ้งความ
ต่อมาคนร้ายได้โอนสาย ไปยังคนร้ายที่อ้างตัวเป็นตำรวจ สภ.เมืองสงขลา และได้สอบถามกับผู้เสียหายว่า ช่วงนี้มียอดเงินแปลก ๆ เข้ามายังบัญชีของผู้เสียหายหรือไม่ ผู้เสียหายจึงตรวจสอบบัญชีดูพบว่า มียอดการโอนเงิน เข้ามาในบัญชีของผู้เสียหายจริงประมาณ 13,000 บาท ตอนเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 7 ส.ค. 66 จึงได้แจ้งกับคนร้ายว่า มียอดเงินแปลก ๆ โอนเข้ามาจริง
ทางคนร้ายที่อ้างตัวเป็นตำรวจ จึงแจ้งว่าผู้เสียหาย เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฟอกเงิน และคนร้ายได้แจ้งผู้เสียหายให้ติดต่อกันโดยผ่าน LINE โดยใช้ชื่อ “สภ.เมืองสงขลา” เพื่อวีดิโอคอล โดยคนร้ายได้อ้างเป็น ผกก.สภ.เมืองสงขลา และแต่งกายในชุดเครื่องแบบตำรวจ และได้ส่งเอกสารราชการปลอม ซึ่งระบุชื่อและเลขบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้เสียหาย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เพื่อที่จะให้ผู้เสีย โอนเงินเข้าบัญชีคนร้ายเพื่อตรวจสอบ ผู้เสียหายจึงได้โอนเงินทั้งหมดในบัญชี รวมถึงยอด 13,000 บาท ไปให้กับคนร้าย
ต่อมาคนร้าย ได้แจ้งกับผู้เสียหายว่า ทางตำรวจกำลังทำการสืบสวนคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีลับ จึงขอให้เก็บเป็นความลับ และห้ามไม่ให้ผู้อื่นทราบ และได้สอบถามว่า ตัวผู้เสียหายอยู่ที่ไหน ผู้เสียหายแจ้งว่า อยู่ที่หอบริเวณมหาลัย จึงขอให้ผู้เสียหาย ไปเก็บตัวอยู่คนเดียว และให้ปิดการแจ้งเตือนภายในโทรศัพท์ทั้งหมด และให้ย้ายสถานที่ ไปโรงแรมใกล้มหาลัย แต่เนื่องจากบริเวณมหาลัยไม่มีโรงแรม ทางคนร้ายที่อ้างตัวเป็นตำรวจ จึงให้ผู้เสียหายไปยังฟิวเจอร์พาร์ครังสิต และให้ไปเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่
ต่อมาคนร้าย ได้แนะนำให้ไปเช่าห้องพักแถวรังสิต โดยแจ้งกับผู้เสียหายว่า บริเวณรีสอร์ทดังกล่าว มีตำรวจนอกเครื่องแบบ คอยดูแลอยู่ตลอดเวลา โดยเมื่อถึงที่พัก คนร้ายให้ผู้เสียหาย เปลี่ยนซิมโทรศัพท์ เพื่อที่จะไม่ให้มีผู้ใด สามารถติดต่อผู้เสียหายได้ และได้แจ้งให้ผู้เสียหายสมัคร LINE ใหม่ผ่าน IPAD และให้ผู้เสียหายแอด LINE ชื่อ “หน่วยงาน ปปง.พิเศษ” และได้วีดิโอคอลกับคนร้าย ที่อ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ปปง.พิเศษ
ซึ่งต่อมาได้แจ้งให้ผู้เสียหาย ลบแอพพลิเคชั่นที่สามารถติดต่อกับผู้อื่น ทั้งภายในโทรศัพท์มือถือ และ IPAD อย่าง LINE ,Facebook ,Instragram และ Messenger โดยให้เหลือไว้เฉพาะแอพพลิเคชั่น LINE ใน IPAD ไว้แอพเดียว และให้เปิดวีดิโอคอล LINE ใน IPAD คุยกับคนร้าย ที่อ้างเป็นหน่วยงาน ปปง.พิเศษ ตลอดเวลา
ซึ่งคนร้ายได้คอยเฝ้าดู และควบคุมการกระทำทุกอย่างของผู้เสียหาย ผ่านวีดิโอคอล และได้หลอกส่ง QR CODE LOGIN LINE มาให้ผู้เสียหายสแกนเพื่อเข้า LINE อันเดิมของผู้เสียหาย ทำให้คนร้ายสามารถควบคุม LINE อันเดิมของผู้เสียหายได้สำเร็จ
ระหว่างที่อยู่ภายในห้องพัก คนร้ายได้สอบถามว่า ที่บ้านประกอบธุรกิจอะไร ผู้เสียหายได้บอกข้อมูล ชื่อ สกุล เบอร์โทรของพ่อ แม่ ต่อมาคนร้ายได้แจ้งกับผู้เสียหายว่าในคดีนี้ จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันประมาณ 200,000 บาท จึงถามผู้เสียหายว่า จะขอยืมเงินจากใครได้บ้าง และให้ผู้เสียหายทดลองขอยืมเงิน โดยให้ผู้เสียหายโทรหาเพื่อน และแม่ของผู้เสียหาย เพื่อขอยืมเงิน
ซึ่งระหว่างที่โทรไปหาแม่ และเพื่อนของผู้เสียหาย คนร้ายได้เฝ้าดูผู้เสียหายผ่านวีดิโอคอล ขณะผู้เสียหายกำลังคุยโทรศัพท์ตลอดเวลา ซึ่งต่อมาคนร้ายจึงได้ออกอุบาย ที่จะช่วยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ในการประกัน ให้กับผู้เสียหาย โดยบอกให้ผู้เสียหายทำตามไปซื้อเทปกาว และกรรไกร เพื่อนำมาถ่ายคลิปโดยมัดมือมัดเท้าตนเอง ส่งให้กับคนร้าย โดยแจ้งว่า คลิปดังกล่าวจะเป็นความลับ ไม่มีการเผยแพร่อย่างแน่นอน
ด้วยความกลัวที่คนร้ายข่มขู่ว่า ถ้าไม่ทำตามจะถูกดำเนินคดี และความอยากกลับบ้าน ผู้เสียหายจึงยอมทำตาม โดยต่อมาคนร้าย ได้ติดต่อและส่งคลิปดังกล่าว ให้กับแม่ของผู้เสียหาย ด้วย LINE อันเก่าของผู้เสียหาย ที่คนร้ายหลอกให้ SCAN QR CODE และได้โทรผ่าน LINE ติดต่อแม่ของผู้เสียหาย ซึ่งคนร้ายได้ส่งบทให้ผู้เสียหายพูดตามว่า
“หนูไม่สำคัญกับแม่เลยใช่ไหมค่ะ หนูไม่มีค่าสำหรับแม่เลยใช่ไหม ถ้าแม่ไม่ช่วยหนู หนูคงไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีกแล้วนะ”
จึงทำให้แม่เชื่อว่า ผู้เสียหายอยู่กับคนร้าย และตกอยู่ในอันตราย โดยคนร้ายขู่ว่า ผู้เสียหายจะเป็นอันตราย ถ้าแม่ของผู้เสียหายไม่โอนเงิน จำนวน 2 ล้านบาท เข้าบัญชีของผู้เสียหาย ต่อมาแม่ของผู้เสียหาย จึงได้แจ้งขอความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุด PCT 1
ต่อมา จากการสืบสวนทราบว่า ผู้เสียหายเข้าพักอยู่ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ใน ต.คูคต อ.ลำลูกกา ทางเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน จึงได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบพบว่า นางสาว ก. (นามสมมติ) ผู้เสียหาย อยู่ภายในห้องเพียงคนเดียว โดยคนร้ายรีบตัดสายสนทนาทิ้งทันที
สืบสวนพบว่า คนร้ายทั้งหมดได้กระทำความผิดอยู่ที่ ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา โดยใช้การโทรศัพท์ และควบคุมเหยื่อด้วยการวีดีโอคอล
พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม./หัวหน้า ศปอส.ตร.ชป.1 กล่าวว่า รูปแบบการกระทำผิดข้างต้นเป็นแผนประทุษกรรมรูปแบบใหม่ของแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยใช้วิธีการแยกหลอกเหยื่อ และผู้ปกครองของเหยื่อ โดยอ้างใช้การเรียกค่าไถ่ และข่มขู่จะทำอันตรายเหยื่อ เพื่อให้ผู้ปกครองยอมโอนเงินทั้งหมดให้
ทำให้ตำรวจ ต้องระดมกำลังเพื่อออกปฏิบัติการ เนื่องจาก ผู้ปกครองเป็นห่วงความปลอดภัย เข้าใจว่าเป็นเรื่องเรียกค่าไถ่จริง สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมเป็นอย่างมาก อยากประชาสัมพันธ์ ให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกัน ในแผนประทุษกรรมรูปแบบใหม่ ของ แก๊งคอลเซนเตอร์ และขอเตือนคนไทยที่ร่วมกระทำผิด