26 เมษายน 2566 ความคืบหน้าทางคดีที่เกี่ยวข้องกับ นางสรารัตน์ หรือ "แอม" ผู้ต้องหาในคดีวางยา นางสาวศิริพร หรือ "ก้อย" และผู้เสียหายรายอื่นๆ โดยข้อมูลล่าสุดวันนี้ (26 เม.ย.66) พบว่า มีเหยื่อทั้งหมดตอนนี้ 12 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิต 11 ราย และรอดชีวิต 1 ราย โดยเหยื่อทุกราย จะมี "แอม" อยู่กับเหยื่อ และติดต่อกันเป็นคนสุดท้ายทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
และในวันนี้ เหยื่อได้ทยอยเดินทางเข้าให้ข้อมูลกับตำรวจ ทั้งสามีของ นางจันทร์รัตน์ เหยื่อที่ผู้เสียชีวิต ที่บ้านพัก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เหตุเกิดวันที่ 15 ส.ค.65
สามีของนางจันทร์รัตน์ เล่าว่า ภรรยา กับ แอมรู้จักกันจากเพื่อนที่เป็นตัวแทนประกันชีวิต และแฟนตนเองอยู่ในทีมประกันชีวิตด้วย โดยในวันเกิดเหตุ คือ 15 ส.ค.65 ตนเองออกไปทำงาน ภรรยาอยู่ที่บ้าน แต่มีโทรศัพท์ของแอม โทรนัดให้ภรรยาตนเองออกไปเจอ ภรรยาตนเองก็ออกไป ประมาณ 9โมง เพราะมีพี่ที่เป็นเพื่อนบ้านสังเกตุ เลยถามภรรยาว่าจะออกไปไหน ภรรยาเลยบอกออกไปเจอเพื่อนซึ่งมาจากราชบุรี และไปเจอที่ปั๊มแห่งหนึ่ง
จากนั้น ภรรยากลับมาประมาณเกือบๆ 11.00 น. แล้วเพื่อนบ้านถามภรรยาว่าเป็นยังไง ภรรยาบอกอาการไม่ค่อยดีเลยเข้าไปพักในบ้าน จากนั้นภรรยาก็เดินเข้าไปในบ้าน ประมาณเที่ยงตนเอง กลับมากินข้าวเที่ยงที่บ้าน พอเข้ามาก็เจอภรรยานอนค่ำหน้ำ ตัวเริ่มเขียวช้ำ และเรียกกู้ภัยเข้ามาพยายามช่วยแต่ก็ช่วยไม่ทัน เสียชีวิตที่บ้าน
และที่ตนเองไม่ได้ติดใจการเสียชีวิต เพราะก่อนหน้านั้น 2-3 วัน ภรรยาบ่นปวดหัว เลยคิดว่าเป็นปัญหาสุขภาพ จึงไม่ได้ผ่าพิสูจน์ เพราะไม่คิดว่าจะมีเรื่องที่เกินมนุษย์ที่ทำกันแบบนี้ ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุเลวร้ายแบบนี้ ซึ่งสาเหตุที่เสียชีวิต หมอบอกว่า เกิดจากหัวใจล้มเหลว
สามีของนางจันทร์รัตน์ ยังบอกอีกว่า หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิต ตนเองก็ไปพบหลักฐานการใช้โทรศัพท์ และมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงิน คือ จะมีเงิน จำนวน 70,000บาท ที่ตนเองเป็นคนไปโอนที่ธนาคาร เพื่อให้แอมไปปล่อยเงินกู้ให้เอาไว้กินดอกเบี้ย และจะต้องได้เงินก้อนแรก สิ้นเดือน ส.ค.แต่ ภารยามาเสียชีวิตก่อน และหลังจากเสียชีวิต ตนเองก็ได้รับการติดต่อกับแอมให้ไปเจอที่ปั๊มน้ำมัน เพื่อบอกว่า ภรรยาตนเองไม่ได้โอนเงินให้เขา
ส่วนเงินอีกก้อนหนึ่งกว่า 20,000บาท โอนไปให้ลงทุนขายของในติ๊กต็อก เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ก่อนที่ ภรรยาจะเสียชีวิต ในวันที่ 15 ส.ค.ซึ่งเงินก่อนนี้โอนเข้าบัญชีของคนอื่นไม่ใช่บัญชีของแอม
นอกจากนี้ ยังมี "ปลา" ภรรยาของตำรวจ ซึ่งเป็นเหยื่ออีกรายที่รอดชีวิต ก็เข้าให้ข้อมูลกับตำรวจ โดยมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เป็นผู้สอบปากคำด้วยตนเอง โดยเหยื่อผู้รอดชีวิตรายนี้ สภาพจิตใจยังหวาดกลัว และยังไม่พร้อมที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดต่อไปยัง สามีของปลา ที่เป็นตำรวจ และได้พูดคุยกับสามี ซึ่งสามีของปลาเล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์ของปลา เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว น.ส.แอม นัดภรรยาให้ไปทานข้าวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งในตอนนั้น น.ส.ปลา เพิ่งหายจากอาการโควิด มีอาการไอ น.ส.แอม จึงได้ให้ทานยาแก้ไอที่เป็นแคปซูล และอ้างว่าเป็นยาสมุนไพร รักษาอาการไอเรื้อรังจากโควิดได้ เมื่อภรรยาทานไปได้สัก 30 นาที ก็เริ่มมีอาการหายใจไม่ออก จึงได้โทรมาหาตนเอง เนื่องจากตอนนั้นเขาอยู่คนเดียว เพราะ น.ส.แอม มีธุระ จึงได้ออกไปก่อน ตนจึงได้บอกให้โทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาล จากนั้น เมื่อภรรยาไปถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล หัวใจก็หยุดเต้น แพทย์จึงรีบปั๊มหัวใจขึ้นมา
ในตอนนั้นแค่สงสัยอาการ จึงได้สอบถามว่าทานยาอะไรเข้าไปก่อนที่จะเกิดเหตุ พร้อมกับขอดูตัวยา แต่ในตอนนั้นไม่มียาอยู่ในมือ แพทย์จึงได้ทำการรักษาโดยให้น้ำเกลือ เพื่อขับสารพิษออกจากปัสสาวะ ทำให้ภรรยาอาการดีขึ้น โดยในช่วงที่ภรรยาเข้าโรงพยาบาล น.ส.แอม ไม่ได้มาหา ติดต่อไม่ได้เลย
สามีของปลา ยังบอกอีกว่า ส่วนตัวของแอม กับภรรยา รู้จักกันอยู่แล้ว เพราะตนเองเป็นเพื่อนกับอดีตสามีของแอม ทั้งนี้ แอม ได้มายืมเงินภรรยาของตนเอง ประมาณ 2 แสนบาท พร้อมกับมีการชักชวนไปเล่นแชร์เหมือนกรณีอื่นๆด้วย
และเมื่อมีข่าวว่า น.ส.แอม วางยาฆ่าผู้อื่น เสียชีวิตหลายรายจึงคิดว่าในขณะนั้นเช่นกันว่า ภรรยาของตนเองก็น่าจะถูกวางยาเช่นกัน วันนี้จึงได้เดินทางมาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ภรรยาของตนเองไม่ขอให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เนื่องจากยังมีอาการหวาดกลัวอยู่
ขณะที่ความคืบหน้าทางคดี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ บอกว่า แนวทางในการทำสำนวนคดี ตอนนี้ยังแยกทำคดีในแต่ละท้องที่ไปก่อน ยัง ไม่มีการรวมสำนวน เพราะคดีแต่ละท้องที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกัน แต่สำนวนทั้งหมดตนเองจะเป็นคนตรวจดู โดยในแต่ละท้องที่ได้ตั้งผู้การจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน
และในแต่ละท้องที่ให้ สพฐ.ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ เก็บดีเอ็นเอ และวัตถุพยานใหม่ทั้งหมด รวมถึงในรถด้วย และได้สั่งให้ไปสอบปากคำแพทย์นิติเวชที่ชันสูตรศพโดยละเอียด ก่อนที่ในวันศุกร์ที่ 28 เม.ย.เวลา 10.00น.ได้นัดหมาย ให้พนักงานสอบสวนทุกคดี เข้ามาประชุม รายงานความคืบหน้าพร้อมกัน ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต
ทั้งนี้ได้กำชับ ประเด็นการสืบสวนสอบสวน ด้วยว่า ให้พนักงานสอบสวน ดูประวัติการป่วยของผู้เสียชีวิตทุกคน ตรวจสอบการได้มาซึ่ง ไซยาไนด์ ของแอม สอบสวนพยานผู้เสียหาย ,ผู้ประสบเหตุและพยานแวดล้อม ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะจากการสันนิษฐาน มองว่า ผู้ต้องหาเขาต้องมีความรู้ในการศึกษาการใช้ไซยาไนด์ จากเหยื่อที่เคยลงมือรายแรกๆหากไม่สำเร็จ เขายิ่งใช้ ยิ่งทำให้เขาศึกษารายละเอียดจนทำให้มั่นใจว่าใช้ในปริมาณไหนถึงทำให้เสียชีวิต
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยอมรับว่า กรณีการทำงานของพนักงานสอบสวนในพื้นที่เกิดเหตุ หากพบ คดีการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ แล้วไม่ส่งชันสูตรศพ ตามกฎหมายกำหนดนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ไม่ทั่วถึง เพราะในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีแพทย์นิติเวช พนักงานสอบสวนจึงยึดความประสงค์ของญาติ ว่า ติดใจหรือไม่ ประสงค์ส่งศพผ่าชันสูตรหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะพบว่า กรณีหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย ครอบครัวผู้สูญเสียมักไม่ติดใจ ไม่ประสงค์ ให้ผ่าชันสูตร แต่ในอนาคตจะกำชับให้พนักงานสอบสวนทุกพื้นที่ เคร่งครัดในการปฎิบัติในการส่งศพผ่าชันสูตร ทุกกรณีที่พบว่า เป็นการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ