25 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อสังคมออนไลน์ โพสต์เรื่องราว เครื่องกระตุกหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เครื่อง AED ใช้สำหรับช่วยปฐมบาลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ที่ทำการติดตั้งไว้ทั่วกรุงเทพมหานคร ถูกขโมยไป 27 เครื่อง มูลค่าความเสียหายกว่า 1.8 ล้านบาท โดยคนร้ายได้นำไปโพสต์ขายผ่านโลกออนไลน์
โฆษก ตร. ยืนยันหายจริง 27 เครื่อง
ด้าน พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เครื่องเออีดีดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับบริจาคจากสภากาชาดไทย จำนวน 262 เครื่อง มีการลงนามเอ็มโอยูกัน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 โดยมอบหมายให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล รับไปดำเนินการ ปรากฏว่า ตามจุดติดตั้ง 262 จุดทั่วกรุงเทพฯ พบสูญหาย 27 จุด
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการจัดการตามสัญญาการจัดซื้อของสภากาชาดไทย ตลอดจนการติดตั้งยังไม่แล้วเสร็จ กรรมสิทธิ์ของเครื่องเออีดีดังกล่าว จึงยังเป็นของ บริษัทคู่สัญญา ไม่ใช่ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และล่าสุด พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้สั่งการให้ทุกท้องที่มีเหตุ ให้ไปลงบันทึกประจำวัน ไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งเร่งสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดอย่างเร่งด่วนแล้ว
อาสากู้ภัยฯ เผย เจอคนโพสต์ขายในโซเชียล เครื่องละ 7 พันบาท
นายสุรชัย ศิลาลาศ อปพร.เขตตลิ่งชัน เปิดเผยว่า ตนเองกับอาสากู้ภัยในพื้นที่ ออกปฏิบัติงานทุกวัน และได้ตรวจดูจุดติดตั้งเครื่องดังกล่าวมาตลอด แต่มาอีกวันกลับไม่พบ จนกระทั่งต่อมาอีก 3 วัน มีอาสากู้ภัยพบว่า มีคนโพสต์เครื่องขายในทางโซเชียลในกลุ่มของเครื่องอุปกรณ์กู้ภัย ทางการแพทย์ พวกตนจึงได้ติดตามไป จนถึงมือผู้โพสต์ขาย และได้สอบถามกับผู้โพสต์ขาย จนมีหลักฐานการโอนเงินขายเครื่อง AED จำนวนหลายเครื่องในราคา เครื่องละ 7,000 บาท ทั้งนี้ เครื่องAED ดังกล่าว มีราคาตั้งแต่ 40,000-80,000 บาท แล้วแต่ยี่ห้อ และได้ถ่ายคลิปไว้ ก่อนนำมามอบให้กับตำรวจไว้เป็นหลักฐาน
รวบแล้วโจรขโมยเครื่อง AED
ต่อมา พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. นำกำลัง ทำการเชิญตัวผู้ต้องสงสัย เป็นชาย 1 ราย อายุ 37 ปี มาทำการสอบสวนที่ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล
เบื้องต้นจากการสอบถามนานหลายชั่วโมง เจ้าตัวยอมรับสารภาพว่า ได้ลงมือออกตระเวนขโมยเครื่องกระตุกหัวใจ ตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปเป็นจำนวน 6 ตัว จากนั้นได้นำไปโพสต์ขายบนโลกออนไลน์ ทั้งนี้ทางตำรวจอยู่ระหว่างทำการขยายผล เพื่อดำเนินการทางคดีต่อไป
บช.น.เรียกประชุมหลังเครื่อง AED หาย 27 จุด
ด้าน พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงถึงกรณี เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ทั่ว กรุงเทพมหานคร หายไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมาว่า เบื้องต้นทาง บช.น.ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องการทำเอ็มโอยู (MOU) บันทึกความเข้าใจกับสภากาชาดไทยในเรื่องของการติดตั้งเครื่อง AED
โดยการทำบันทึกความเข้าใจจะมีการติดตั้งเครื่อง AED ทั่วกรุงเทพ จำนวน 262 เครื่อง ซึ่งทางสภากาชาดไทยได้ทำสัญญากับ บริษัทเอกชน ในการจัดหา และติดตั้ง ซึ่งมีการติดตั้ง เรื่อยมา จนล่าสุดมีการสำรวจ เมื่อวันที่ 17 มกราคม ว่า ยังติดตั้งไม่ครบถ้วน คงเหลืออีก 11 จุด ที่ยังไม่ได้ติดตั้ง แต่มีเครื่องหายไปทั้ง 27 จุด ในสัญญาการติดตั้ง สภากาชาดไทยจะจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชนดังกล่าว หลังจากที่ติดตั้งครบทุกจุดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอุปกรณ์ที่หาย ทางบริษัทเอกชน ได้ตกลงในสัญญาว่า สน.พื้นที่ ไม่ต้องรับผิดชอบ ให้การแจ้งหายไว้ เนื่องจากการใช้เครื่อง AED เป็นกรณีเร่งด่วน ต้องติดตั้งไว้ในจุดที่เห็นง่าย และสามารถนำออกมาใช้ได้ทันที หากมีการล็อค หรือเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าในการใช้งาน
ทั้งนี้ หลังจากการประชุมหารือกรณีดังกล่าว มอบหมายให้ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. ดูแลงานจราจร ได้กำชับให้จุดที่เหลือ ให้เพิ่มความระมัดระวัง ให้มากขึ้น และให้จุดที่หายดำเนินการแจ้งความ และให้เร่งรัดสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว
เปิดข้อมูลเครื่อง AED หายไปจากจุดไหนบ้าง
ขณะที่มีรายงานว่า จำนวนจุดติดตั้งเครื่อง AED ตาม MOU 262 จุด ติดตั้งจริง 251 จุด ไม่ได้ติดตั้ง 11 จุด สูญหาย 27 จุด คงเหลือที่ติดตั้งอยู่ 224 จุด ส่วนจุดที่เครื่อง AED สูญหาย จำนวน 27 จุด ประกอบด้วย แยกรัชโยธิน แยกใต้ด่วนนางลิ้นจี่ แยกราชดำริ
แยกอารีย์ แยกทองหล่อ แยกเกษมราษฎร์ แยกสุขุมวิท แยกพาหุรัด แยกกษัตริย์ศึก แยกเสือป่า แยกวรจักร แยกแม้นศรี แยกหมอมี
แยกเชิงสะพานเจริญสวัสดิ์ (แยกไมตรีจิตต์) สน.ปทุมวัน แยกปทุมวัน แยกสามย่าน แยกมหานคร แยกจุฬา 12 ด้านพญาไท แยกเฉลิมเผ่า แยกอังรีดูนัง แยกมหานคร-สี่พระยา แยกใต้ด่วนสุรวงศ์ แยกชักพระ แยกสวนแสงธรรม จุดควบคุมสัญญาณไฟ แยกบางบอน 3
โดยจุดที่หายมากที่สุดอยู่ในพื้นที่สน.ปทุมวัน จำนวน 7 จุด รองลงมา สน.พลับพลาไชย 1 จำนวน 5 จุด สน.ทองหล่อ จำนวน 3 จุด สน.พลับพลาไชย จำนวน 2 และ สน.บางรัก จำนวน 2 จุด และสน.พหลโยธิน สน.ทุ่งมหาเมฆ สน.ลุมพินี สน.คลองตัน สน.พระราชวัง สน.ตลิ่งชัน สน.บางบอน และสน.ศาลาแดง จำนวน 1 จุด