svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

อัยการธนกฤต กางเเนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างฯ

อัยการธนกฤต กางเเนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครอง ระบุการกระทำต้องชัดเพียงพอ ใช้เฉพาะข้อมูลจากสื่ออย่างเดียวไม่ได้

21 พฤศจิกายน 2567 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความ และกฎหมายพยานหลักฐาน ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และแม่ฟ้าหลวง ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ให้ความเห็นข้อกฎหมายประเด็นสำคัญในการวินิจฉัยคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ตามแนวคำวินิจฉัยและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความว่า

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อให้ความรู้ทางวิชาการด้านกฎหมายแก่ผู้สนใจศึกษาถึงแนวคำวินิจฉัยและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญกรณีมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยอ้างอิงจากแนวคำวินิจฉัยและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 1/2563, 19/2564, 3/2567 และ 20/2567  และคำสั่งที่ 1/2564, 2/2565, 40/2566, 14/2567 และ 30/2567 โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นคดีไหนแต่อย่างใด 

ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวคำวินิจฉัยกรณีมีผู้ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ดังนี้

1. การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เพื่อที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์หรือการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

โดยมีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้น จึงจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ถึงระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ และจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจะอาศัยเพียงข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล

2.เนื่องจากการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 เป็นการที่ประชาชนใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ จึงต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561

ดังนั้น ประเด็นตามคำร้องที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะต้องอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยด้วย เช่น หากเป็นการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง หรือ คำร้องขอให้ยุติการกระทำที่เป็นการครอบงำพรรคการเมือง ย่อมไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 

เนื่องจากการยุบพรรคการเมืองและการครอบงำพรรคการเมืองนั้นต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะเป็นผู้ไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณาว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ 

หากเห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนต่อไป