5 เมษายน 2566 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ “คนรุ่นใหม่ ประชาธิปไตยบริสุทธิ์” เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ พร้อม นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกดีเอสไอ เพื่อตรวจสอบที่มารายได้ของ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ซึ่งหากพบความผิดปกติอาจเข้าข่ายการฟอกเงิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายภัทรพงศ์ เปิดเผยว่า วันนี้มาให้ดีเอสไอตรวจสอบเส้นทางการเงินของทนายตั้ม เพราะถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะต้องยอมให้มีการตรวจสอบและติชมจากสังคม โดยตนคัดลอกข้อมูลจากเว็บไซต์เป็นงบดุลกำไรขาดทุน บริษัท ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม จํากัด (Sittra Law Firm) ย้อนหลัง 4 ปี พบว่ามีกำไรเพียง 4 แสนกว่าบาท แต่ทนายตั้มกลับใช้ชีวิตหรูหรา ใช้ของแบรนด์เนม ทำตัวไฮโซ ซึ่งไม่สอดคล้องกับรายรับ-รายจ่ายของบริษัท หรือหากมีรายได้พิเศษทางอื่นๆ จากช่องทางใด
สำหรับแหล่งที่มารายได้ของทนายตั้ม 3 ทาง คือ 1. บริษัท ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม 2.งานส่วนตัว และ 3.มูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ของทนายตั้ม เมื่อตรวจสอบแล้วโปร่งใสจะเป็นผลดีต่อตัวทนายตั้มเอง แต่หากพบการทุจริตจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของอาชีพทนายความ และอาจเข้าข่ายความผิดมูลฐานฟอกเงินด้วย ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้เดินทางไปร้องทุกข์ ปปง. แต่มาร้องขอให้ดีเอสไอ ใช้เครื่องมือตรวจสอบ และที่ผ่านมา ทนายตั้ม ก็ไม่เคยออกมาชี้แจงเรื่องรายได้ดังกล่าว
นายภัทรพงศ์ เปิดเผยอีกว่า ส่วนกรณีทนายตั้มแถลงข่าวคิดค่าเสี่ยงภัย ราคา 3 แสนบาท ถือว่าผิดข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ ข้อ 18 ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือ เป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ โดยตนเคยไปร้องสภาทนายความ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา
“สำหรับกรณี นายไชย์พล วิภา หรือ “ลุงพล” ล่าสุดได้ออกมายืนยันว่าเคยจ้างทนายตั้มทำคดีความ มีค่าเดินทางเหยียบบ้านกกกอก 5 แสนบาท และทราบว่ามีแฟนคลับจากต่างประเทศเคยโอนเงิน 2-3 ล้านบาท ช่วยเรื่องคดีความ ซึ่งมีหลักฐานต่างๆ ยืนยันและอยากให้ทนายตั้ม กางบัญชีรายได้เพื่อยืนยันแสดงความบริสุทธิ์ใจ” นายภัทรพงศ์ กล่าว