31 มีนาคม 2566 นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของบุคคลในแวดวงทางการเมือง เมื่อ "เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และนักธุรกิจชื่อดัง เสียชีวิตอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์
ภายหลังจากถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลบุรีรัมย์อย่างเร่งด่วน จากอาการ ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เนื่องจากอากาศร้อนจัด ขณะซ้อมแข่งรถยนต์ ที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ทางครอบครัวและญาติ จะนำร่างกลับมาที่กรุงเทพฯ ในวันนี้(31 มีนาคม 2566 )
นอกจาก ความเป็นนักธุรกิจชื่อดังที่ประสบความสำเร็จ ด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านธุรกิจการเกษตร และด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เคยดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ แต่ในทางการเมือง "เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จากการสานต่องานทางการเมืองจากรุ่นพ่อ "วัฒนา อัศวเหม" สมัยที่มีการกล่าวขานกันว่าเป็น "เจ้าพ่อปากน้ำ"
ต้นตระกูลการเมือง "บ้านใหญ่อัศวเหม" หรือ "บ้านใหญ่ม้าทองคำ" แห่งสมุทรปราการ อีกหนึ่งกลุ่มตระกูลการเมืองที่มีบทบาทมากในอดีตเริ่มจาก "วัฒนา อัศวเหม" จากธุรกิจน้ำมัน แล้วมาเล่นการเมืองกลายเป็นต้นกำเนิดของ"บ้านใหญ่ปากน้ำ"
เครือข่ายการเมืองสมุทรปราการ จากรุ่นพ่อ "วัฒนา อัศวเหม" เข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่ปี 2518 มีบุคคลที่อยู่ในระดับครูการเมืองขณะนั้น ไม่ว่าเป็น"สังข์ พัธโนทัย" ที่ปรึกษาคนสนิท จอมพล. ป.พิบูลสงคราม "มั่น พัธโนทัย" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กระทั่ง"นายวัฒนา" ตกเป็นผู้ต้องหาคดีทุจริตโครงการบ่อบัดน้ำเสีย คลองด่าน สมุทรปราการ และหลบหนีไปต่างประเทศก่อนศาลมีคำพิพากษา
จากนั้น การเมืองสมุทรปราการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รุ่นที่สอง เมื่อ"เอ๋ ชนม์สวัสดิ์" เข้ามารับไม้ต่อ โดย "เอ๋ ชนม์สวัสดิ์" เป็นลูกชายคนที่สามของวัฒนา โดยพี่ชาย 2 คนคือ "พิบูลย์" ดูแลธุรกิจน้ำมันของครอบครัว และ"พูนผล" ที่เล่นการเมืองเคียงข้างประมุขบ้านม้าทองคำ (พูนผล เสียชีวิตเมื่อปี 2558)
จุดเริ่มสู่ตำแหน่งการเมืองท้องถิ่น เมื่อปี 2542 เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาถูกสั่งปลดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เมื่อมีการเลือกตั้งอบจ.ใหม่ ปรากฎว่า "นันทิดา แก้วบัวสาย" อดีตภรรยา ได้รับเลือกตั้ง
ก่อนหน้านี้ "ชนม์สวัสดิ์" เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคมหาชน เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อแผ่นดิน ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2550 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาได้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ในปี 2551 และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 เขาให้การสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ
"ชนม์สวัสดิ์" เคยถูกจำคุกในคดีทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ ปี 2542 ซึ่งศาลฎีกาตัดสินเมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 8 (3) ของพระราชทานอภัยโทษพระราชกฤษฎีพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งได้ลดวันต้องโทษ 1 ใน 4 ของโทษที่เหลือ เมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2559
การสูญเสียของคนตระกูลการเมือง"อัศวเหม"นั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญเมื่อปี 2558 "พูนผล อัศวเหม" หัวใจล้มเหลวเสียชีวิตที่บ้านพัก อายุ 48 ปี และ ล่าสุดปี 2566 "ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" เกิดอาการฮีทสโตก และไปเสียชีวิตที่ รพ. อายุ 55 ปี